
สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันมีการผลักดันสินค้าชุมชน สินค้าเกษตรของไทยขึ้นทะเบียน GI แล้ว 224 สินค้า สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจชุมชนกว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2568 นี้ กรมพร้อมที่จะสนับสนุนสินค้า GI ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนภายในประเทศ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนในแต่ละจังหวัดให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีความหลากหลาย วางเป้าหมายที่จะผลักดันสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอีกด้วย
ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจได้สัมภาษณ์ นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างการนำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เพื่อติดตามดูแลและเป็นการรับฟังปัญหาของชุมชนเกษตรกร ที่มีสินค้า ผลผลิตขึ้นทะเบียน GI ไปแล้ว ประสบปัญหาและต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐเข้าช่วยเหลือหรือไม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมสินค้า GI ให้เกษตรกรชุมชนในจังหวัดที่สนใจ สามารถนำสินค้าที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ เข้ามาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ เพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในระดับประเทศอีกด้วย
ตั้งเป้าเพิ่ม GI อีก 22 รายการ
นางสาวนุสราระบุว่า กรมมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยการผลักดันให้ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ มีความรู้ความเข้าใจ ให้เห็นถึงความสำคัญในการขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพราะถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าขึ้นทะเบียน GI แล้ว 224 สินค้า สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจชุมชนกว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี เชื่อว่าจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขึ้นทะเบียนสินค้า GI ทั่วประเทศอีก 22 รายการ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น
นอกจากนี้ กรมยังจะเร่งผลักดันให้สินค้า GI ไทยไปขึ้นทะเบียนในต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดตลาดให้กับสินค้าให้มีการส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น ปัจจุบันพบว่าสินค้า GI ไทยขึ้นทะเบียนไปในต่างประเทศรวมแล้ว 9 สินค้า ใน 33 ประเทศทั่วโลก รวม 17 คำขอ เช่น อินเดีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสินค้า GI ต่างประเทศเข้ามาขึ้นทะเบียน GI ในไทย เช่น ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา เปรู อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น
โดยสินค้าที่นำมาขึ้น อาทิ ข้าวบาสมาติของอินเดีย ข้าวบาสมาติของปากีสถาน พริกไทยกำปอดของกัมพูชา ตากีล่าของเม็กซิโก นาปา วัลเลย์ ของสหรัฐอเมริกา สกอตช์วิสกี้ของสกอตแลนด์ เป็นต้น
“สินค้าที่ได้ชื่อว่ามีการขึ้นทะเบียน GI จะเป็นสินค้าที่ได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพ ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น ส้มโอนครชัยศรี (พันธุ์ขาวน้ำผึ้งและทองดี) จ.นครปฐม ก่อนขึ้นทะเบียนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียน ราคาปรับขึ้น 80-200 บาทต่อลูก กาแฟดอยตุง จ.เชียงราย ก่อนขึ้นทะเบียน 800 บาทต่อกิโลกรัม หลังขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 1,150 บาทต่อกิโลกรัม ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนขึ้นทะเบียน ลูกเล็ก 130 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียนลูกเล็ก 200 บาทต่อลูก”
ส่งเสริม GI ไปต่างประเทศ
ล่าสุดกรมได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบัน จ.สมุทรสงคราม มีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 5 สินค้า ได้แก่ ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม พริกบางช้าง ปลาทูแม่กลอง และเกลือสมุทรแม่กลอง สร้างรายได้ทางศรษฐกิจให้กับจังหวัดกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปี และอยู่ในระหว่างการขอขึ้นทะเบียน GI อีก 2 รายการ ประกอบด้วย กะปิเคยตาดำคลองโคน และน้ำตาลมะพร้าวแม่กลอง
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีโอกาสหารือกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาด รวมถึงแนวทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศในอนาคต ซึ่งการผลักดันส่งออกสินค้า GI ไปต่างประเทศได้ การขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยในต่างประเทศก็สำคัญ รวมไปถึงคุณภาพ มาตรฐานที่ต้องรักษาไว้ ซึ่งกรมจะมีการทบทวนมาตรฐานทุก 2 ปี เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพ และการันตีได้ว่าสินค้ายังอยู่ในระดับมาตรฐาน ทำให้สินค้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนได้มากขึ้น
ราคาขึ้น 20% หลังได้ GI
นางสาววรารัตน์ ชาญวิทยสกุล เจ้าของผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากปลาทู “วรา ปลาทู” จ.สมุทรสงคราม ระบุว่า วรา ปลาทู ได้รับรองมาตรฐาน GMP และ อย. ซึ่งถือว่าเป็นรายใหญ่ที่สุดของจังหวัด และเมื่อมีการขึ้นทะเบียน GI สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาก็เพิ่มขึ้น 15-20% จากราคาตลาด เช่น จาก 33 บาทต่อเข่ง ขึ้นมา 45 บาทต่อเข่ง เป็นต้น ขึ้นอยู่กับขนาด ไซซ์ ของปลาทูด้วย
โดยสัดส่วนการทำตลาด 30% ส่งออกไปต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรีย และเม็กซิโก เป็นต้น ขายในประเทศ 70% ผ่านกูร์เมต์ มาร์เก็ต เครือเดอะมอลล์ แม็คโคร และช่องทางออนไลน์ ผ่าน Facebook วรา ปลาทู สร้างรายได้ปีละประมาณ 20-30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการรับจ้างผลิตอีกด้วย
“การขึ้น GI ของสินค้าปลาทูแม่กลอง ทำให้ชุมชน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีเครือข่ายประมงที่ออกหาปลา ซึ่งเราจะรับซื้อหมด ซึ่งเรารับซื้อมากสุดต่อครั้งกว่า 3 ตัน เฉลี่ยทั้งปีเรารับซื้อกว่า 100 ตัน กำลังการผลิตอยู่ที่ 300 ตันต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณปลาที่เก็บนั้นไม่เพียงพอ เป้าหมายต้องการที่จะให้สินค้าส่งออกไปทั่วโลก”
ดันส้มโอจีไอเพิ่มมูลค่า
นางถนอมจิต บุตรราช เจ้าของสวนส้มโอขาวใหญ่ถนอมจิต สมุทรสงคราม กล่าวว่า ปลูกส้มโอบนพื้นที่ 25 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 80 ตันต่อปี และมีเครือข่ายในกลุ่มสวนส้มโออีกด้วย ทั้งนี้ การทำตลาดหลัก 30% ส่งออกไปจีน ส่วน 70% ขายในประเทศ
นอกจากนี้ เรายังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ด้วย แต่สิ่งที่เราพบเจอในตอนนี้ คือ เกษตรกรบางกลุ่มยังไม่เข้าใจเรื่องของการขึ้นทะเบียน GI ประกอบกับเจอปัญหาว่า สินค้า GI เวลาส่งออกไปต่างประเทศ ราคาไม่ต่างกับสินค้าที่ไม่ได้ขึ้น GI จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพราะชาวสวนบางรายอายุมากอาจจะไม่เข้าใจ และยังขาดการประชาสัมพันธ์ ประกอบกับการรับซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางก็มีผลต่อรองราคา อีกทั้งอยากให้หน่วยงานดูแลเรื่องน้ำในการเพาะปลูกด้วย