“ปลาหมึก/ทิพรส” ถูก US แบน สงสัยวิธีผลิตน้ำปลาร้านอาหารไทยระส่ำ

“บิ๊กส่งออกน้ำปลา” เจอหางเลข “สหรัฐ” แบนนำเข้า สั่งตรวจสอบการหมัก ทูตพาณิชย์หวั่น 5,000 ร้านอาหารไทยระส่ำรสชาติอาหารเปลี่ยน ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเร่งประสานแก้ไขแล้ว คาดไม่กระทบส่งออกเครื่องปรุงรสปี”62 โต 5%

นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ Office of Compliance, Center of Food Safety and Applied Nutri-tion ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้ประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทย เนื่องจากต้องการให้ไทยตรวจสอบพิสูจน์สารปนเปื้อนจากการหมักน้ำปลาว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง เพราะการหมักน้ำปลาจะใช้เป็นปลาตัวเล็กจึงไม่สามารถชำแหละเอาไส้ปลาออกได้

“FDA สุ่มตรวจว่าน้ำปลามีสารทำให้เกิดมะเร็ง ต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือต้องต้ม แม้ว่าประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการไทยเองมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ สคร.ห่วงว่าประเด็นจะส่งผลต่อร้านไทยในสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 กว่าร้าน และยังมีร้านอาหารเอเชียจากกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งต่างก็จำเป็นต้องบริโภคน้ำปลา ทำให้ตอนนี้หลายแห่งหันไปใช้เกลือแทน ก็จะเกิดปัญหารสชาติอาหารตามมา ท้ายสุดกลัวว่าจะเกิดปัญหาคล้ายซอสศรีราชาที่เสียโอกาสส่งออกในตลาดนี้ไปเลย อย่างไรก็ตาม ต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่อไป”

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐระบุว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 FDA จัดให้บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จํากัด เข้าในบัญชี Import Alert # 16-120 และกักกันการนําเข้า เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบ HACCP สําหรับสินค้าอาหารทะเล โดยระบุว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร Histamine และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรีย clostridium butolinum ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ Import Alert ข้างต้นปรากฏว่ามีบริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทย ได้แก่ 1) Saigon International (2004) จ.ราชบุรี 2) Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) ครั้งแรก วันที่ 21 เม.ย. 57 และครั้งที่ 2 วันที่ 20 พ.ค. 57 และล่าสุด 3) Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. (ตราปลาหมึก) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 61

ผลจากมาตรการดังกล่าวทำให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำปลาไทยในสหรัฐลดลง ซึ่งก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2555-2557 ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการนําเข้าสินค้านี้เป็นอันดับ 1 ที่ประมาณ 70-80% เหลือ 35-40% โดยในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ FDA จัดให้ทิพรสอยู่ในลิสต์ทำให้การนำเข้าลดลง 40% จากปี 2557 ซึ่งมีมูลค่า 21.29 หลือมูลค่า 13.39 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558 ขณะที่การนําเข้าน้ำปลาจากฮ่องกงเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปี 2557 มูลค่า 4.15 ล้าน เป็น 12.72 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2558


นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการประสานกับบริษัทผู้ที่ถูกห้ามนำเข้าแล้ว ทราบว่าอยู่ระหว่างการแก้ไข โดยเคสนี้จะแตกต่างจากเคสของน้ำปลาทิพรสก่อนหน้านี้ ซึ่งทางสหรัฐขอให้มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีสารเจือปนและให้ต้ม ฝ่ายชี้แจงว่ากระบวนการหมักน้ำปลาโดยใช้ความเค็มเป็นกระบวนการปกติของคนเอเชียที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล สามารถถนอมอาหารโดยใช้ความเค็ม แต่ไม่สามารถนำไปต้มได้เพราะจะทำให้รสชาติเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าครั้งนี้จะสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำปลา โดยปัจจุบันสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสมีการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3-7% ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3-7 ปีแล้ว โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 5%