ธุรกิจรุกเสนอวาระรัฐบาลใหม่ เทเงินลงทุน…ชุบชีวิตเศรษฐกิจ

แม้การเลือกตั้ง 24 มีนาคมผ่านพ้นไป แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ ก็ทำให้หน้าตารัฐบาลใหม่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งก็ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เกิดความกังวลถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือหากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีเสถียรภาพหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจมุมมองความเห็นและความกังวลของผู้บริหารภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ฝากถึง “รัฐบาลใหม่” ที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อ

นายแบงก์ชี้ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยจะไปในทิศทางไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าหน้าตาของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร และต้องดูว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะรีบดำเนินการเรื่องอะไรก่อน ทั้งแก้ปัญหาเดิมที่ค้างอยู่ หรือรีบดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งการเร่งผลักดันนโยบาย โดยที่ยังไม่ได้ดูความพร้อมของเศรษฐกิจอาจจะเป็นประเด็นต่อระบบเศรษฐกิจได้

โดยมองว่าลำดับแรกอยากให้รีบเร่งในการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนก่อน เพราะเชื่อว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ต่างจับตาดูว่ารัฐบาลใหม่หรือทีมเศรษฐกิจใหม่จะเดินไปในทิศทางไหน ทั้งยังมีปัญหาความไม่แน่นอนเรื่องการส่งออก และราคาพืชผลที่น่าจะเป็นปัญหาที่อาจต้องเร่งแก้ไขก่อน

“เรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนควรมาก่อน โดยถ้ารัฐบาลตั้งได้และทราบว่าใครจะมาบริหารกระทรวงไหน จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนได้ ทั้งยังมีเรื่องการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมีความอ่อนไหวในหลายประเด็น ควรดำเนินการก่อน แล้วอย่างอื่นค่อยทำ
ในลำดับต่อไป” นายฐากรกล่าวและว่า

ห่วงผลกระทบขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ”

สำหรับโครงการหรือนโยบายที่ต้องการให้สานต่อ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ถนน และสนามบิน เนื่องจากจะเป็นการรองรับการท่องเที่ยว ทั้งยังสอดรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวออกนอกเมืองด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการ EEC ที่หวังว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการสานต่อ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก

แม้ว่าหลายนโยบายของแต่ละพรรคล้วนมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเดินไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งการเสนอปรับขึ้นไปสูงนั้นอาจมีผลต่อธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอยากให้ดูในหลายมิติ ที่สำคัญต้องดูความจำเป็นหรือความพร้อมในการจะปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งต้องมาพร้อมกับคุณภาพ เช่น ควรดูเรื่องการนำเข้า-ส่งออกด้วย เพราะถ้าขึ้นค่าแรงส่งผลต่อต้นทุน แต่ขายของยังไม่ค่อยได้ ก็น่าจะมีผลกระทบต่อผู้ทำธุรกิจได้

นายฐากรกล่าวปิดท้ายว่า อยากเห็นทีมเศรษฐกิจที่แข็งแรง รู้จริงและเข้าใจพื้นฐานปัญหาของเศรษฐกิจไทย ทั้งยังกล้าที่จะตัดสินใจภายใต้วิสัยของวินัยทางการคลังที่ดีด้วย เพราะการผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ต้องใช้เงินเยอะพอสมควร

“หอการค้า” ชูวาระ ปท.เหนือนโยบาย

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมต้องใช้ระยะเวลาจับคู่ทางการเมืองประมาณ 1-2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ส่วนประเด็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภาพรวมมองว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาลมีนโยบายที่ต่างกัน จะอย่างไรก็ต้องดู Agenda ของประเทศเป็นหลักว่าทำไปแล้วประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร

เป้าหมายหลักของประเทศควรมุ่งเน้นการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เลือกตั้งแล้วก็ไม่ควรมีการแบ่งแยกทางการเมือง ประเด็นนี้จะส่งผลให้ต่างชาติและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ที่สำคัญจะต้องดำเนินการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม และหาตลาดรองรับ โดยคงใช้นโยบายการตลาดนำตลาดต่อไป

“เรื่องการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลควรเดินหน้าการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามแผน โดยเฉพาะการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนตามที่บีโอไอประกาศไว้ รวมถึงการมุ่งเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย”

จี้ทบทวนนโยบายไร้ผล

อย่างไรก็ตาม นายกลินท์ให้ความเห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรศึกษาทบทวนและประเมินผลการใช้งบประมาณในการดำเนินนโยบายเดิม เช่น นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรต้องมีการประเมินถึงผลการดำเนินการว่าแท้จริงแล้วประโยชน์ตกถึงประชาชนหรือไม่ แม้ว่าโครงการนี้จะมีไอเดียดี แต่หากทำไปแล้วไม่ได้ผลก็ควรมีการทบทวน และนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แต่ละจังหวัดชายแดนก็ควรทบทวน เพราะแต่ละจุดไม่มีจุดขายที่น่าสนใจดึงดูดนักลงทุน

ส่วนประเด็นที่อาจจะมีการใช้งบประมาณดำเนินการ 5.9 แสนล้านบาท จนทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลจะต้องปรับขึ้นภาษีบางรายการนั้น มองว่ารัฐบาลต้องดูกระเป๋าเงินของตัวเองว่ามีเท่าไร ได้เงินมาจากไหนบ้าง

“เห็นด้วยกับการใช้นโยบายขยายฐานภาษีที่รัฐบาลจะให้ใช้วิธีการทำบัญชีเดียว ซึ่งจะทำให้แบงก์ปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น แต่ก็อยากให้มีความชัดเจนว่าจะมีวิธีการอื่น ๆ อีกหรือไม่ นอกจากการใช้เรื่องบัญชีเดียวแล้ว”

นักลงทุน ตปท. Wait & See

นายสแตนลีย์ กัง ประธานหอการค้าต่างประเทศ ประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นหลังการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย ระบุว่า ตอนนี้พอคาดเดาได้แล้วว่าประเทศไทยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งมองว่าน่าจะมีความชัดเจนในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่ควรเกิน 3 สัปดาห์ สำหรับกรอบเวลาที่ กกต.ระบุว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 60 วันนั้น ผมมองว่ากระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่นานาชาติคาดหวังที่จะเห็นและเฝ้าติดตามว่าการเมืองไทยจะดำเนินไปตามกรอบเวลาที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ เพราะการนับ
คะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งก็ถือว่าล่าช้าอยู่มาก สำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้าใจในระบบการเมืองของไทยอยู่แล้วคงไม่มีปัญหาต่อความเชื่อมั่น แต่ก็ยังมีบางประเทศที่อาจไม่เข้าใจในกระบวนการทั้งหมด ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยต้องเพิ่มความชัดเจนและความโปร่งใสในทุก ๆ ขั้นตอน

“แม้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยยังมีอยู่สูง และคงคาดเดาอะไรได้ยาก แต่ที่ผ่านมาไทยสร้างความเชื่อมั่นต่อสายตานักลงทุนต่างชาติได้ในระดับที่ดี ดังนั้น ความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้อาจจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทย แต่สำหรับนักลงทุนใหม่น่าจะทำให้ wait & see ก่อน”

ประธานหอการค้าต่างประเทศยืนยันว่า สำหรับประเทศไทยที่มีศักยภาพอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้เป็นรัฐบาลภายใต้รัฐบาลทหารก็ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจโครงการลงทุนต่าง ๆ เช่น โครงการ EEC โครงการไฮสปีดเทรน สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดติดกับขั้วการเมืองของไทย ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นรัฐบาลเดิมหรือไม่ เพียงแต่ขอให้โครงการต่าง ๆ หรือกฎระเบียบที่เคยผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจยังดำเนินไปได้เหมือนเดิม

“ญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ของไทย พูดกับผมก่อนมีการเลือกตั้งว่า แผนการลงทุนในระยะยาวจะไม่ชะงักเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ก็พร้อมที่จะเดินหน้าการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับไทยอย่างเต็มที่หลังมีการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสมบูรณ์”