รอรัฐบาลใหม่ขอทำเหมืองต่อ คิงส์เกตเป็นต่ออ้างFTAฟ้องไทยใช้ม.44

“คิงส์เกตฯ” พร้อมไต่สวนพยานตามระบบอนุญาโตตุลาการนัดแรก ปม “เหมืองทองอัครา” 18 พ.ย.นี้ ยันหลักฐานความเสียหายผลประกอบการเป็น 0 บาท ขาดทุนอ่วม 288 ล้านบาท- ความเสียโอกาสทางธุรกิจ เหตุแร่ยังเหลือ 35 ล้านตัน ผลิตทองได้อีก 10 ปี มูลค่า 37,000 ล้านบาท ย้ำบริษัทมีกองทุนเยียวยา 3 กองทุน แถมไทยยังได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง 15 ปี จ่ายให้ถึง 4,539 ล้านบาท

นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18-29 พฤศจิกายน 2562 ทางบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัครา ผู้ประกอบการ เหมืองแร่ทองคำชาตรี และรัฐบาลไทย มีกำหนดที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนพยานตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นครั้งแรก ณ ประเทศสิงคโปร์

หลังจากคิงส์เกตฯ ได้คำเสนอข้อพิพาท (statement of claim) รัฐบาลไทย เพื่อเข้าสู่การระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จากกรณีคำสั่งตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ที่ให้อัคราฯยุติการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีลงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560

ในช่วง 2 ปีที่บริษัทมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 0 บาท มีรายได้อื่น ๆ จากการขายเครื่องจักร อุปกรณ์สำนักงาน เพียงทางเดียว 50 ล้านบาท และยังคงจ้างพนักงาน 30 คนเพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักร (care and maintenance) ฟื้นฟูพื้นที่เหมืองตามกฎหมาย ค่าใช้จ่ายราว 10 ล้านบาท/เดือน ส่งผลให้ขาดทุน 288 ล้านบาท

“รัฐบาลไทยเชิญคิงส์เกตฯเข้ามาประกอบกิจการทำเหมืองแร่ทองคำเมื่อปี 2544 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากต้องการเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ และกำหนดให้นำทองที่ขุดได้ส่งออกเพื่อนำเงินตราเข้ามา ทั้งหมดอยู่ภายใต้ข้อตกลง TAFTA แต่เมื่อรัฐบาลใช้คำสั่ง ม.44 ด้วยเหตุผลที่ว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้เวลาเราประมาณ 6-7 เดือนทำตามเงื่อนไขเพื่อให้สามารถต่อใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมได้นั้น เราพิสูจน์ตัวเองตามคำขอจากรัฐทุกอย่าง แต่ในที่สุดเราก็ถูก ม.44”

สำหรับพื้นที่เหมืองทองคำชาตรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก ได้มีการสำรวจสินแร่ไว้แล้ว โดยข้อมูลปี 2561 ปริมาณแร่พร้อมขุด (reserved ore) ทั้งหมด 35.4 ล้านตัน สามารถผลิตทองคำได้ 890,000 ออนซ์ มูลค่า 37,024 ล้านบาท และยังสามารถผลิตเงินได้ 8,300,000 ออนซ์ มูลค่า 3,984 ล้านบาท จากปริมาณแร่ทั้งหมดเทียบกับกำลังการผลิตของอัคราฯ 120,000 ตัน/ปี ดังนั้น อัคราฯสามารถประกอบกิจการต่อได้อีกประมาณ 10 ปี

ขณะดียวกัน มีปริมาณแร่ที่ได้สำรวจไว้แต่ยังไม่เปิดหลุมขุดหรือวางแผนการขุด เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กพร. (resource) ปริมาณ 163.6 ล้านตัน สามารถผลิตทองคำได้ 3,400,000 ออนซ์ มูลค่า 141,444 ล้านบาท และผลิตเงินได้ 29,000,000 ออนซ์ มูลค่า 14,112 ล้านบาท

“เรามีตัวเลขการสำรวจที่ทางคิงส์เกตฯต้องแจ้งต่อ ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียซึ่งยังคงยืนยันว่าปริมาณแร่ในพื้นที่สัมปทานขณะนี้มีปริมาณที่สามารถผลิตทองคำได้ 890,000 ออนซ์ ณ ราคาทองวันนี้ 1,300 บาท/ออนซ์ คิดเป็นมูลค่า 37,024 ล้านบาท”

ทั้งนี้ อัคราฯยังคงยืนยันว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ของคิงส์เกตฯในประเทศไทยนั้น สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศซึ่งตลอดปี 2544-2559 หรือ 15 ปี อัคราฯจ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐบาลไทยถึง 4,539 ล้านบาท จ่ายภาษี 1,145 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งหมด 40,217 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังจัดทำกองทุนสำคัญ 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสิ่งแวดล้อม EIA โดยอัคราฯนำส่ง 10 ล้านบาท/ปี ให้ กพร.เป็นผู้ดูแลเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินระหว่างประกอบกิจการ เช่น เยียวยา และช่วยเหลือชุมชน ซึ่งขณะนี้คณะทำงานหลายหน่วยงานได้ขอใช้เงินกองทุนเพื่อทำสำรวจ วิจัย ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 80-90 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนและกองทุนโรงงานประกอบโลหกรรม เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว บริษัทจะแจ้งทางคิงส์เกตฯให้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอเข้าพบและเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคิงส์เกตฯต้องการมาตลอด เนื่องจากการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีค่าใช้จ่ายสูง และหากผลตัดสินออกมาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

ส่วนการเดินหน้าทำเหมืองต่อในไทยหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าคำตัดสินจะออกมาในรูปแบบใด และอยู่ที่รัฐบาลไทยจะยังพิจารณาใบอนุญาตทำเหมืองทองอีกหรือไม่”