สินค้าจีนทะลักผ่าน “เส้นทางสายไหม”

เอกชนไทยชี้ OBOR โอกาสที่มาพร้อมวิกฤต หวั่นสินค้าจีนราคาถูกไหลทะลักดัมพ์เข้าไทยสะดวกขึ้น “เหล็ก-เครื่องจักร” สินค้าไทยต้นทุนผลิตสูงสู้จีนไม่ได้ แนะเตรียมมาตรการรับมือ

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาซีรีส์ 3 ?ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt, One Road? ซึ่งจัดโดยกรมการค้าต่างประเทศว่า ยุทธศาสตร์ ?หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง? ของรัฐบาลจีน ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกให้มีการขยายตัว รวมทั้งใช้โอกาสนี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย โดยประเทศสมาชิกในเส้นทางลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน และไทยจะเห็นโอกาสการค้า การลงทุน ทั้งการส่งออกว่าจะสามารถใช้โอกาสนี้ได้มากที่สุดอย่างไร

ล้วงลึกตลาดจีน – นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานงานสัมมนา “ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt,One Road” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนากรมการค้าต่างประเทศ

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน กล่าวว่า โครงการ OBOR ของจีน มีงบประมาณในการลงทุนในการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเนื่องจากจีนจำเป็นต้องใช้ไทยเป็นเส้นทางผ่านเชื่อมไปยังประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย เพื่อเจาะตลาดไปยังอินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป รวมถึงรัสเซียตะวันตก ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งสินค้าสะดวก รวดเร็วมากขึ้นและเป็นการประหยัดเวลา เช่น เส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง โดยมีปลายทางคือประเทศสิงคโปร์ ที่จะต่อทะลุผ่านเวียดนาม สปป.ลาว เข้าสู่ไทยทางจังหวัดหนองคาย ลงไปยังแหลมฉบัง จะเป็นเส้นทางสำคัญที่จีนจะใช้ไปสู่ประตูมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบไทย จะต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะภาคขนส่ง รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น อาหาร พลังงาน น้ำมัน ที่พัก และบริการอะไหล่เครื่องจักรต่าง ๆ การซ่อมบำรุง การท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีผลต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว สำหรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นโอกาสอันดีที่จะรองรับโครงการ OBOR แต่สิ่งสำคัญ คือ ไทยต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งขยายถนน ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และโรงไฟฟ้า มารองรับเส้นทางลงทุนของจีน และหาก EEC ดำเนินการแล้วเสร็จจริง การเมืองมีเสถียรภาพ นักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นลงทุน จะมีแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ มีสิ่งที่น่ากังวล คือ การทะลักของสินค้าจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าราคาถูก สินค้าที่จีนผลิตเพื่อส่งออก เช่น เหล็ก เครื่องจักร หรือสินค้าที่ไทยผลิตเอง แต่มีต้นทุนที่ต่างจากจีนจะก่อให้เกิดการแข่งขัน หรือสินค้าไหลเข้ามา นอกจากนั้นยังกังวลเรื่องของปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากเส้นทางการเดินรถที่ต่างกัน ด้านภาษา รวมไปถึงกฎหมายของไทยที่จีนยังไม่เข้าใจอาจก่อให้เกิดผลกระทบตามมา รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีการผลิตในประเทศ อาทิ เหล็ก เพื่อป้องกันการตีตลาด

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า โอกาสที่จะได้จากเส้นทางสายไหมนั้น จะทำให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทยได้เปิดโอกาสเข้าตลาดในประเทศใหม่ที่ไทยยังไม่ได้ทำ สามารถขยายสินค้าด้านการเกษตร เกษตรแปรรูป กลุ่มอาหารที่จะเป็นโอกาสให้สินค้าขยายตัว เพระสินค้าไทยยังเป็นที่ยอมรับและความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงต้องพัฒนาสินค้า และผลักดันให้สินค้าไทยเข้าไปใช้โอกาสนี้ให้ได้ ขณะเดียวกันเพื่อป้องกันการเข้ามาของสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใกล้เคียง ซึ่งไทยอาจจะสู้ไม่ได้เรื่องของต้นทุน ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องพัฒนาสินค้าและยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น และเจาะกลุ่มตลาดเป้าหมาย เพราะหากจะสู้คู่แข่งอย่างจีนคงจะลำบาก