ประเมินผลมาตรการคลายล็อกดาวน์ระยะ 1 รับฟีดแบ็ก “หอการค้าจังหวัด-สมาคมการค้า” ก่อนเคาะระยะ 2 ชูแอป “Thai.care” จัดระเบียบสถานประกอบการสีเขียว-แดง นายกฯ เดินสายถกสมาคมภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอี หวั่นกระทบแรงงาน 2 ล้าน ชงขอผ่อนเกณฑ์ซอฟต์โลน จี้ประกันสังคมขยายวงเงินชดเชย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) (ศบค.) คลายล็อกให้ 6 กลุ่มกิจการและกิจกรรม กลับมาเปิดตามปกติ ระยะที่ 1 นับจากวันที่ 3 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา วันที่ 5 พ.ค. คณะทำงานได้ประชุมหารือประเมินผลจากสมาชิกสมาคมการค้า และหอการค้าจังหวัด ว่าแต่ละภาคส่วนมองอย่างไร ต้องปรับแก้ไขอะไรบ้าง เพื่อเตรียมมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจในระยะที่ 2 ต่อไป
ดึงธุรกิจลงทะเบียน Thai.care
นอกจากนี้ ได้ประชุมร่วมกับเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหารือแนวทางการเตรียมพร้อมเปิดดำเนินการธุรกิจกลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีแดง โดยจะนำแอปพลิเคชั่น Thai.care มาใช้เพิ่ม จากเดิมที่ใช้แอปพลิเคชั่นหมอชนะ โดยแอปนี้จะตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งจะขอความร่วมมือให้สถานประกอบการสมัคร (register) โดยสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการได้อย่างสบายใจ
“แผนเปิดธุรกิจระยะที่ 2 จะดูว่าหลังเปิดเฟสแรกแล้ว เราสามารถคอนโทรลได้หรือไม่ ถ้าเปิดระยะแรกแล้วมีอัตราการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 คน ยังเปิดระยะที่ 2 ได้ ส่วนธุรกิจที่จะคลายล็อกในระยะ 2 ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ต้องสรุปให้ได้ก่อนครบ 14 วันของเฟสแรก เพื่อเตรียมรายละเอียดมาตรการ”
แรงงานเครื่องประดับป่วน
ผู้สื่อข่าวรายได้ว่า ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและต้นสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ให้สมาคม องค์กรภาคเอกชนเข้าพบเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ
นายกิตติศักดิ์ อุดมแดงอร่าม นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย กล่าวว่า ในการหารือร่วมกับนายกฯ ทางสมาคมได้รายงานสถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับขณะนี้ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งออก และขายสินค้าให้กับผู้ซื้อ หรือผู้นำเข้าตามออร์เดอร์เดิมได้ เนื่องจากติดปัญหาการปิดประเทศ ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ยังชะลอตัว จึงขาดสภาพคล่องในการดูแลธุรกิจและแรงงานซึ่งมี 1.6 ล้านคน หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปจะกระทบรุนแรงถึงขั้นต้องปิดกิจการ
ชง 3 มาตรการเร่งด่วน
ได้เสนอ 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการให้ดำเนินกิจการต่อได้ระยะ 3 เดือนนี้ 1.เพื่อรักษาแรงงานฝีมือในระบบให้ภาครัฐมีความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติมาตรการเยียวยาภายใต้มาตรา 33 ตามกฎหมายประกันสังคม 2.ให้สถาบันการเงินผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือการกู้เงิน เนื่องจากเงื่อนไข หลักเกณฑ์บางข้อ ทำให้เอกชนไม่สามารถเข้าถึง 3.ให้ผู้ประกอบการนำวัตถุดิบมีค่าหรือสต๊อกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้
ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีประมาณ 13,000 ราย และ 90% เป็นรายเล็ก
โควิดทุบเครื่องนุ่งห่ม 4 แสนล้าน
ขณะที่นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ยอดขายเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศลดลงกว่า 50% จากที่เคยทำได้ 4 แสนล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 4-6 เดือนจะมีการลดกำลังการผลิต รวมถึงหยุดกิจการ เลิกจ้างเพิ่มขึ้นถึง 70% จากปัจจุบัน55% กระทบแรงงานในอุตสาหกรรมทั้งหมด 300,000 คน และกระทบห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้างรุนแรงซึ่งอุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมโรงงาน 2,200 โรงงาน ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกอีก 30,000 ราย
จึงเสนอแนวทางแก้ไข 3 ด้าน คือ 1) ปัญหาผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างกรณีหยุดงานชั่วคราว ให้ประกันสังคมจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 75% จากปัจจุบันช่วยกรณีเหตุสุดวิสัยโดยจ่าย 62% ขอขยายระยะเวลาลดอัตราการส่งเงินสมทบฝ่ายลูกจ้าง 1% นายจ้าง 4%จาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563 ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดหา soft loan แก่ผู้ประกอบการผ่านธนาคารพาณิชย์ คิดดอกเบี้ย 2% ไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยกำหนดวงเงินเป็นอัตราร้อยละจากยอดขาย ไม่ใช่จากสินเชื่อค้างชำระ ขอให้ปลอดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
2) ให้รัฐสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบ และการวิจัยและพัฒนา เช่น หน้ากากผ้า ชุด PPE และสนับสนุนผลิตภัณฑ์นี้เพื่อให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย 3) ปัญหาการบริโภคและกำลังซื้อที่ลดลงมากและรวดเร็ว ทำให้ระบบธุรกิจรวมถึงซัพพลายเชน เช่น โรงปั่น โรงทอ โรงย้อม โรงพิมพ์ อาจต้องปิดกิจการลง และเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ รัฐจึงควรส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand)
SMEs เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทย และประธานสมาพันธ์ SME ไทย ส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้เข้าพบนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกฯ (ฝ่ายการเมือง) รายงานสถานการณ์และปัญหาจากที่เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกู้ซอฟต์โลนที่รัฐบาลออก 500,000 ล้านบาท สาเหตุเพราะมีการวางหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ยังเข้มงวดเหมือนในสถานการณ์ปกติ พร้อมข้อเสนอเป็นบันได 9 ขั้น SMEsไทย ประชารัฐยั่งยืน (รักษา-ฟื้นฟู-ก้าวไกล)เริ่มจากเอสเอ็มอีจดทะเบียนการค้ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“สมาพันธ์เสนอให้แบ่งเงินซอฟต์โลน 200,000-300,000 ล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนเอสเอ็มอีไทย และบริหารจัดการให้ใช้ประโยชน์ได้จริง”
ให้เพิ่มกองทุนรีไฟแนนซ์หนี้
นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้กองทุนประกันสังคมจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างกรณีนายจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยเหตุสุดวิสัย เพิ่มจาก 62% เป็น 70-75% และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่อง พยุงการจ้างงาน โดยขยายกองทุนที่สำนักงานประกันสังคมตั้งขึ้น วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการนำไปไถ่ถอนหนี้ เพิ่มวงเงินมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการกู้ใหม่ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้แทน วงเงิน 10-20% ของวงเงินที่ผู้ประกอบการจ่ายสมทบประกันสังคม ดอกเบี้ยต่ำ 3% หรือปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน-1 ปี
ท่องเที่ยวขอเพิ่มซอฟต์โลน
ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า สมาคมได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนอุตฯท่องเที่ยวของไทยใน 4 ประเด็นหลัก 1.ให้พิจารณาแนวทางการขยายความคุ้มครองประกันสังคม จากชดเชยประกันสังคม 62% เป็นระยะเวลา 3 เดือนเป็น 6 เดือน 2.ให้เพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกสาขาอาชีพอีก 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท (ผ่านธนาคารออมสิน) 3.ให้พิจารณายกเลิก VAT 7% 4.ขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (fee VOA)