แรงงานต่างด้าวขาดแคลนหนัก “ก่อสร้าง-ประมง” ต้องการ 1.2 ล้านคน

Photo by Romeo GACAD / AFP

โควิดพ่นพิษไม่หยุด ธุรกิจ-อุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานต่างด้าวนับล้าน รับเหมาอ่วมเสียหายแสนล้าน กระทุ้งรัฐแก้ ร้านอาหารโอดเปิดบริการขาดลูกมือ เกษตร-ประมงเดือดร้อนไม่น้อยหน้า ชี้ผ่อนคลายเฟส 6 เปิดให้ต่างชาติเข้าไทย “เมียนมา-ลาว-กัมพูชา” ติดล็อกเงื่อนไขกักตัว 14 วัน แถมเสียค่าใช้จ่าย 1.4 หมื่นบาท/หัว นายจ้างรับอาน

ไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย และล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เตรียมผ่อนคลายระยะที่ 6 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย 4 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานต่างด้าว ต่างชาติที่เข้ามาจัดแสดงสินค้า กองถ่ายภาพยนตร์ และกลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาล

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวนั้น แม้ทางการจะคลายล็อกให้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ แต่ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติที่ยังคุมเข้มเรื่องการตรวจสอบกักกันโรค ต้องกักตัวแรงงานต่างด้าวในสถานกักกันของรัฐเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สร้างภาระให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงานซึ่งปัจจุบันรุนแรงมากขึ้น กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งอุตฯก่อสร้าง ภาคการเกษตร ประมง ธุรกิจร้านอาหาร ฯลฯ

แรงงานก่อสร้างหาย 2 แสนคน

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างมาก จากการสอบถามสมาชิกผู้รับเหมาพบว่าเกือบทุกโครงการได้รับผลกระทบ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 100,000 ล้านบาท เพราะธุรกิจรับเหมาใช้แรงงานมาก ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานในธุรกิจรับเหมารวม 1.8 ล้านคน หลังการแพร่ระบาดของโควิด แรงงานต่างด้าวบางส่วนกลับประเทศ รวมแล้วมีแรงงานหายไปจากระบบ 100,000-200,000 คน

“สมาคมเคยยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ผู้รับเหมาต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการบริหารเวลางานให้เหมาะกับปริมาณงานและแรงงาน ไม่มีการปลดคนงานก่อสร้าง เช่น บางช่วงงานน้อยลดเวลางานเหลือเพียงช่วงกลางคืน หรืองานมากก็เพิ่มงานให้ทำมากขึ้น เป็นต้น หากปลดคนออกพยุงค่าใช้จ่าย จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาแรงงานที่กำลังขาดแคลน”

กระทุ้งรัฐออกมาตรการช่วย

ที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ คือ ให้สั่งการถึงหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อสร้างทุกแห่งระงับการเก็บค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้าออกไปจนกว่าโควิด-19 จะดีขึ้น และให้ขยายเวลาก่อสร้างแบบไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นเรื่องสุดวิสัย และกระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศให้โรคนี้เป็นภัยพิบัติ

ก่อนหน้านี้รับทราบจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลเห็นชอบให้มีมาตรการยืดเวลาก่อสร้างให้ก่อน 6 เดือน แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่าทำไม่ได้ เนื่องจากกรมบัญชีกลางคัดค้าน ติดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ที่ให้อำนาจการขยายเวลาอยู่ที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ ไม่ใช่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงขอให้กรมบัญชีกลางเร่งสรุปการขอยืดเวลากับหน่วยงานต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ให้โรคโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการห้ามโยกย้ายแรงงานต่างด้าว และขอให้กระทรวงการคลังเร่งออกมาตรการที่มีความชัดเจนในการปฏิบัติด้วย

ลำไยจันท์ขาดแรงงาน 5 หมื่นคน

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า เดือน ส.ค.นี้ ผลผลิตลำไยในจันทบุรีจะออกตามฤดูกาลจำนวนมาก แต่โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลไม้กำลังประสบปัญหาหนัก ขาดแรงงานต่างด้าว 40,000-50,000 คน มาเก็บลำไย ต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สมาคมได้เสนอในที่ประชุมระดับจังหวัดผ่านผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลปลดล็อกระยะที่ 6 ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตอบสนองกลไกทางเศรษฐกิจและรองรับฤดูกาลลำไยที่จะมาถึง และ 15 ก.ค.ได้มีหนังสือถึง ผวจ.จันทบุรี เสนอให้พิจารณาเปิดให้แรงงานเข้ามาเก็บลำไย และเสนอมาตรการควบคุมแบบสเตตควอรันทีน ป้องกันโควิด โดยให้ล้งจัดหาสถานที่กักตัวแรงงานต่างด้าวไว้ 14 วัน โดยผู้ประกอบการยินดีออกค่าใช้จ่าย

“ปกติล้งประมาณ 60% จะรับซื้อลำไย โดยทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า จะประกาศราคารับซื้อและทำสัญญา แต่ตอนนี้ล้งไม่กล้าประกาศราคา เพราะยังไม่นิ่ง เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะเปิดให้คนต่าวด้าวเข้ามาเก็บผลไม้ได้หรือไม่ โดยแรงงานจะมีทั้งเข้ามา 7 วัน และ 90 วัน”

นายอำนาจ จันทรส นายกสมาคมสวนลำไยจันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวหากรัฐไม่เร่งแก้ไข ปลายเดือน ส.ค. ชาวสวนลำไยจะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ได้เสนอให้ใช้ “ล้ง” ของผู้ประกอบการเป็นสถานที่กักกันล่างหน้า 14-20 วัน โดยล้งยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจากลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำรายได้ให้จันทบุรีปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท รองจากทุเรียน

สระแก้วหวั่นแรงงานตัดอ้อยขาด

นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนะชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า การปิดช่องทางผ่านแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมด ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน และช่องทางอนุโลมกว่า 4-5 เดือน กระทบภาคธุรกิจในจังหวัดชายแดนที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ทั้งพืชไร่อย่าง มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ข้าว และพืชสวน เช่น ลำไย รวมทั้งแรงงานภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง รับจ้างทั่วไป ใกล้ถึงฤดูการเปิดหีบอ้อยเดือน ธ.ค.นี้ถึงต้นปีหน้า หอการค้าจังหวัดสระแก้วกำลังเตรียมการหารือกับโรงงานอ้อยและน้ำตาลเพื่อหาทางออก หากช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถนำแรงงานต่างด้าวมาตัดอ้อยได้จะดำเนินการอย่างไร

ประมง 22 จว.ขอ 5 หมื่นคน

ขณะที่นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการประมง 22 จังหวัดชายทะเล ได้แจ้งความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในธุรกิจ 40,000-50,000 คน ซึ่งเดือน มิ.ย. 2563 อธิบดีกรมประมงได้ลงนามโดยใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง 2560 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง โดยให้สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ และทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ติดมาตรการป้องกันโควิด ต้องรอการพิจารณาจาก ศบค. ภาคประมงเดือดร้อนหนักเช่นเดียวกัน

กระตุ้นร้านอาหารใช้แรงงานไทย

ส่วนนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิดมีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในร้านอาหารจำนวนหนึ่งเดินทางกลับประเทศ แต่เมื่อทางการไทยประกาศคลายล็อก และร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ แรงงานต่างด้าวบางส่วนยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ ทำให้ร้านอาหารจำนวนหนึ่งขาดแรงงานจำนวนมาก แต่โดยส่วนตัวอยากรณรงค์ให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหันมาใช้แรงงานในประเทศก่อน เพราะคนไทยตกงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้แรงงานไทยจำนวนหนึ่งไม่อยากทำงานในร้านอาหาร

ส่วนที่ ศบค.จะคลายล็อกให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นนโยบายของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นเข้าใจว่า ขั้นตอนการนำเข้าแรงงานจะต้องมีมาตรการตรวจคัดกรอง และการกักกันตัว 14 วัน ตามที่ ศบค.กำหนด

คน.ช่วยชาวสวนลำไย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บลำไย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ช่วงเดือน ส.ค.นี้จะเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยออกมากที่สุด จะกระทบทำให้เก็บลำไยไม่ทัน ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาขาย ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้ กรมการค้าภายในจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออก โดยอาจต้องผ่อนปรนให้แรงงานกลุ่มนี้ และจากปัญหาดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้นำเข้าโดยเฉพาะจีน อินโดนีเซีย ไม่สามารถเข้ามาดูสินค้าได้ ทำให้การสื่อสารการซื้อ-ขาย และดูคุณภาพลำไยเป็นไปได้ลำบาก จึงอาจจะกระทบการส่งออกลำไย และได้ร่วมหารือกับทุกฝ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก รวมทั้งหาช่องทางกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ

ต่างด้าวนับแสนคนรอเข้าไทย

ในส่วนของภาครัฐ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และกรรมการใน ศบค.ชุดเล็ก กล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงแรงงานแจ้งว่า แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศไทย ที่กลับประเทศมีเพียง 69,000 คน เป็นกลุ่มที่มีใบอนุญาตแรงงาน และวีซ่าแล้ว แต่ถ้ากลับมาต้องเข้า state quarantine กักตัว 14 วัน โดยจะกำหนดเป็นโควตาในการเข้าประเทศ แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ให้แรงงาน-นายจ้างจ่ายค่ากักตัว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นคนต่างด้าวไม่ใช่คนไทย ดังนั้นการ state quarantine จะมีค่าใช้จ่ายวันละ 1 พันบาท รวม 10,000-14,000 บาท แต่กรณีต่างด้าวไม่มีกำลังจ่ายค่า state quarantine จะต้องจ่ายเองส่วนหนึ่ง และนายจ้างออกอีกส่วนหนึ่ง โดย ศบค.ต้องหาสถานที่ควบคุมที่ถูกลง โดย state quarantine จะอยู่ในจังหวัดที่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั้งสระแก้ว หนองคาย มุกดาหาร ตาก และระนอง

นอกระบบ 4 หมื่นคนลุ้นอีกรอบ

“ขณะนี้มอบให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดหาสถานที่ state quarantine โดยผู้แทนกระทรวงแรงงานรายงานว่า นายจ้างส่วนหนึ่งมีความพร้อมรับค่าใช้จ่าย 10,000-15,000 บาทได้ เช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ทั้งนี้ 69,000 คน ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 4 หมื่นคน ซึ่งได้มอบให้ฝ่ายความมั่นคงสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาในราชอาณาจักร แต่เมื่ออนุญาตให้เข้ามาจะดำเนินการคนที่มีใบอนุญาตก่อน จากนั้นจะอนุญาตให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีใบอนุญาตแรงงาน และยังไม่มีวีซ่าเข้ามา เราจะทยอยเหมือนกับให้คนไทยเข้ามาในราชอาณาจักร ดีกว่าไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้ลักลอบเข้ามา” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

ยืดเวลาแก้ขาดแรงงาน

ขณะที่นโยบายของกระทรวงแรงงาน เน้นแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยยืดระยะเวลาทำงานให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ขณะนี้ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ

โดยนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า บางพื้นที่พบว่าสถานประกอบการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาและวางแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) เมื่อ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว4 กลุ่มเป้าหมาย 1.คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งครบวาระจ้างงาน 4 ปี 2.ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (passport : PP) เอกสารเดินทาง (travel document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (certifi-cate of identity : CI) ที่ใบอนุญาตทำงาน และการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดช่วง 30 ก.ย. 2562-30 มิ.ย. 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 20 ส.ค. 62

3.ต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50, 53 และมาตรา 55 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และกลุ่มที่ 4.คนต่างด้าวที่ใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับตามฤดูกาล

ส่วนกรณีคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (PP/CI/TD) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 ม.ค. 64 เพื่อ 1) ขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ภายใน 31 ต.ค. 63 2) ตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐ และซื้อประกันสุขภาพ ภายใน 31 ม.ค. 64

3) ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ณ ตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ ภายใน 31 ม.ค. 64 และ 4) ขอจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงาน

ธุรกิจขอจ้างต่างด้าว 1.2 ล้านคน

ส่วนคนต่างด้าวที่มีบัตรผ่านแดน (border pass) อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 มี.ค. 64 1) ขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางาน ภายใน 31 ต.ค. 63 2) ตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐและซื้อประกันสุขภาพ ยกเว้นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ภายใน 31 ต.ค. 63 ซึ่งอนุญาตให้ทำงานครั้งละ 3 เดือน ช่วง 1 ส.ค. 63-31 มี.ค. 65 และ 3) ไม่เป็นโรคที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรและทำงาน

นายสุทธิกล่าวถึงผลการดำเนินการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี”62-63 (15 มิ.ย. 63) ว่า นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 1,266,351 คน สัญชาติกัมพูชา 213,461 คน ลาว 50,581 คน เมียนมา 1,002,309 คน ในจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ยื่นความต้องการจ้างได้จัดทำใบอนุญาตให้แล้ว 774,983 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 491,368 คน โดยสามารถดำเนินการได้ถึง 30 พ.ย. 63