“ประยุทธ์” ตีกลับภูเก็ตโมเดล ผวาโควิดซ้ำ-ปรับเกณฑ์เปิดประเทศ

ประยุทธ์ ประชุม 70 ซีอีโอ เคลื่อนเศรษฐกิจ
FILE PHOTO : ROYAL THAI GOVERNMENT

“บิ๊กตู่” ตีกลับแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ภูเก็ตโมเดล” หวั่นโควิดระบาดรอบใหม่ สั่งปรับแผน วงในเผยเหตุตอบสังคมยาก ให้สิทธิ์ “ไทยแลนด์ ลองสเตย์” บริหารจัดการแค่รายเดียว รมว.การท่องเที่ยวฯ เดินหน้าต่อลงพื้นที่ภูเก็ตทำประชาพิจารณ์ 5-6 กันยาฯ เก็บข้อมูลก่อนนำเสนออีกรอบ เจ้าเมืองภูเก็ตพร้อมเป็นจังหวัดนำร่อง ฟื้นเศรษฐกิจ ด้าน ททท.ลั่นยกเลิกชื่อ “ภูเก็ตโมเดล” ชงแนวทางใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “การเปิดประเทศอย่างจำกัด”

แหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจท่องเที่ยวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดพื้นที่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ภูเก็ตโมเดล” ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 25 ส.ค. 2563 ได้เห็นชอบในหลักการ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังไม่รับพิจารณาแผนดังกล่าว

“บิ๊กตู่” ตีกลับ “ภูเก็ตโมเดล”

โดยสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯนำกลับไปพิจารณาก่อนนำมาเสนอใหม่ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแผนด้านความมั่นคงที่ต้องทำควบคู่กับแผนเปิดประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดรับกับที่แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งระบุว่า แผนเปิด “ภูเก็ตโมเดล” ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถูกตีกลับเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การควบคุมไวรัสโควิด-19 ของไทยยังอยู่ในภาวะที่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

การพิจารณาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจึงเป็นประเด็นละเอียดอ่อน นายกฯต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ แนวทางการบริหารจัดการจึงต้องรัดกุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจและเชื่อว่านายกฯได้รับทราบข้อมูล ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะให้สิทธิ์ บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด หรือไทยแลนด์ ลองสเตย์ ดำเนินการทั้งติดต่อที่พัก ทำเอกสาร ยื่นขอวีซ่า ฯลฯ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการพำนักในประเทศไทยระยะยาว (long stay) กระทั่งเกิดเป็นประเด็นคำถามว่าทำไมต้องให้สิทธิ์ไทยแลนด์ ลองสเตย์ เพียงรายเดียว ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลอาจถูกตั้งคำถาม และตอบสังคมยาก

“นายกฯสั่งให้ไปกลับไปทำแผนมาใหม่ พร้อมบอกว่าไม่เอาชื่อภูเก็ตโมเดลด้วย ขณะที่ รมว.การท่องเที่ยวฯก็ยังคงผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ เพราะอยากให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มที่คิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ และเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้ามาอยู่ยาวไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในเมืองท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้”

รมว.การท่องเที่ยวฯเดินหน้าดันต่อ

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกระทรวงยังคงเดินหน้าผลักดันแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มลองสเตย์ต่อไป และจะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงประชาชนระหว่างวันที่ 5-6 ก.ย. ตามแผนเดิมที่วางไว้ หลังจากนั้นจะสรุปรายละเอียดความเห็นประชาชนในภูเก็ต เสนอ ศบศ. และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมถึง ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

“ภูเก็ตโมเดล” นั้นมีการเดินงาน 2 รูปแบบ คือ 1.ดำเนินการผ่านไทยแลนด์ ลองสเตย์ โดยมีการกักตัว 14 วัน ในรูปแบบ ASQ (alternative state quarantine) หรือกักตัวอยู่ในห้องของโรงแรมที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล 2.ดำเนินการแบบทั่วไป ซึ่งเป็นลักษณะการกักตัวในพื้นที่ของโรงแรมที่กำหนด หรือเรียกว่า area quarantine ทั้ง 2 รูปแบบนี้ เมื่อครบ 14 วัน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางภายในจังหวัดได้ แต่หากต้องการเดินทางข้ามจังหวัดต้องกักตัวต่ออีก 7 วัน รวมเป็น 21 วัน

“ประเด็นที่บอกว่า ท่านนายกฯอยากให้เปลี่ยนรูปแบบของภูเก็ตโมเดลนั้น คิดว่าน่าจะอยากให้เปลี่ยนชื่อมากกว่า เพราะภูเก็ตโมเดล คนอาจเข้าใจยาก เพราะที่เราทำมี 2 รูปแบบ”

เมืองภูเก็ตยันพร้อม “นำร่อง”

นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ยืนยันว่าภูเก็ตมีความพร้อมเป็นจังหวัดนำร่องรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องทำควบคู่กับความปลอดภัยของคนในพื้นที่ด้วย โดยยึดโมเดลในมาตรฐาน 5T ประกอบด้วย T : target การกำหนดกลุ่มที่เดินทางเข้ามาโดย ศบค. และกักตัว 14 วัน T : testing การคัดกรองตรวจหาเชื้อที่ต้นทาง และที่สนามบินภูเก็ต T : tracing การติดตามโดยมีแอปพลิเคชั่นตามตัวแบบเรียลไทม์ T : treatment การดูแลรักษา มีบุคลากร

และเครื่องมือ เวชภัณฑ์ยาที่เพียงพอ และ T : trust การสร้างความเชื่อมั่นโดยสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งชาวต่างชาติให้เข้าใจว่า ภูเก็ตพร้อม มีการเตรียมการที่ดี มีมาตรฐานกำกับดูแล ป้องกัน และเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจะมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้มาตรฐาน 5T

เช่นเดียวกับ นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ที่กล่าวว่า ภูเก็ตโมเดลเป็นการทดสอบความพร้อมของภูเก็ตที่จะรับคนต่างชาติอย่างมีระบบ ควบคุมความเสี่ยงได้ตามมาตรฐานเดียวกันกับที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ภูเก็ตมีความพร้อมแล้ว แต่สาระสำคัญต้องคัดเลือกกลุ่มคนที่อยากเข้ามาแบบลองสเตย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค เพราะคนต่างชาติเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ สร้างรายได้หลายทาง

นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ยอมรับว่าจำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา หากยังปิดต่อไป เศรษฐกิจเดินต่อไปไม่ได้ธุรกิจล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ คนทั่วไปก็ลำบาก จึงขอให้ใช้แนวทางภูเก็ตโมเดล แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจและสุขภาพที่ดีด้วย

ด้านนายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีการเตรียมรับกลุ่มคนต่างชาติ มีมาตรการรองรับและคัดกรองที่สนามบินอย่างเป็นระบบ โดยทุกคนต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรฐานของ ศบค. ก่อนให้ออกไปใช้ชีวิตแบบ new normal

สอดรับกับที่นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยืนยันว่าขณะนี้ทางการแพทย์มีการทำงานกันเป็นทีม และหารือกันอย่างต่อเนื่อง มีระบบการดูแลผู้ป่วยมีโรงพยาบาลสนามที่สามารถรองรับกลุ่มเฝ้าระวังที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สำคัญต้องผ่านการยอมรับของประชาชน ต้องทำกึ่งประชาพิจารณ์ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เพื่อแก้ปัญหาและหาทางออก และไม่กระทบกับประชาชนและนักท่องเที่ยวไทย

จ่อเลิกชื่อ “ภูเก็ตโมเดล”

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ททท.อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอแนวทางและเงื่อนไขในการเปิดประเทศอย่างจำกัดกับ ศบศ. โดยแนวทางล่าสุดคงไม่เหมาะที่จะเรียกว่า “ภูเก็ตโมเดล” อีก เพราะหลังจากนี้จะเสนอแนวทางการเปิดประเทศอย่างจำกัด ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับการเดินทางกลับจากต่างประเทศของคนไทย

ผ่านการทำให้เป็นมาตรฐานกลางที่มีเงื่อนไขชัดเจน เพื่อให้ทุกพื้นที่ที่ต้องการเข้าร่วมสามารถทำได้ เพียงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแน่นอนแล้วว่านักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้ามาผ่าน “การเปิดประเทศอย่างจำกัด” จะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ต้องได้วีซ่าพิเศษสำหรับการพำนักระยะยาวอย่าง special tourist visa ที่เปิดพำนัก 90 วัน และขอต่อระยะเวลาได้ 2 ครั้ง รวม 270 วัน นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะแตกต่างกับเงื่อนไขของภูเก็ตโมเดลที่เสนอโดยจังหวัด อาทิ ตรวจเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง กำหนดให้ซื้อประกัน การอาศัยในพื้นที่ที่กำหนด และอื่น ๆ

“แม้เงื่อนไขค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น แต่เพื่อความสบายใจและมั่นใจของประชาชนในพื้นที่ ททท.คาดว่าจะมีการขยับเปิดทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่ ระยะทดลอง ระยะขยายผล และระยะเปิดประเทศอย่างจำกัด” นายยุทธศักดิ์กล่าวและว่า ในระยะเริ่มต้นนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียงหลักร้อยเท่านั้น เมื่อสามารถสร้างความมั่นใจและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของการตรวจเชื้อ การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจึงจะขยายเพิ่มเติมได้

เร่งเปิดทันฤดูหนาวปลายปีนี้

ที่ผ่านมา ททท.ได้ลงไปศึกษาดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก พบว่าขีดความสามารถขนส่งผู้โดยสารผ่านเที่ยวบินเช่าเหมาลำในตารางบินฤดูหนาวปีนี้ พบว่า รัสเซีย มี 459,000 ที่นั่ง สหราชอาณาจักร 15,600 ที่นั่ง สวีเดน 27,000 ที่นั่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางจะเกิดขึ้นเต็มขีดความสามารถ เพราะยังเป็นการเปิดจำกัดอยู่ กลุ่มจังหวัดแรก ๆ ที่จะขอจัดประชาพิจารณ์จะเป็นจังหวัดที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูงอย่าง ภูเก็ต หรือสมุย ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว 80-90% ของรายได้ทั้งหมด เพื่อลดโอกาสเลิกจ้างงาน ลดผลกระทบของผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว

“การเปิดประเทศอย่างจำกัดนี้ไม่น่าจะทำได้ตามกำหนดเดิมที่วางไว้ 1 ต.ค. เพราะเหลืออีกหลายขั้นตอนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่จะเร่งมือเต็มที่ให้ทันหน้าหนาวนี้ เพราะหากไม่ทันหน้าหนาวอาจต้องเลื่อนไปในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ หรือไม่สามารถเปิดได้อีกก็ต้องขยับไปเป็นหน้าหนาวหน้าช่วงปลายปี 2564”

สำหรับความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผูกขาดของไทยแลนด์ ลองสเตย์ นั้นไม่ต้องกังวล ทุกบริษัทสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบเดียวกับไทยแลนด์ ลองสเตย์ ทุกประการ ขอเพียงร่วมลงทะเบียนกับ ททท. และสามารถขอวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวได้ โดยไทยแลนด์ ลองสเตย์ เป็นเพียงบริษัทที่ ททท.ใช้เป็นตัวอย่างเท่านั้น

หอการค้าฯหนุน

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 3 ก.ย. ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งหมอ นักวิชาการจากสถาบันทีดีอาร์ไอ (ดร.สมเกียรติ

ตั้งกิจวานิชย์) ททท. ในนามกลุ่มเปิดเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยที่จะให้มีการทยอยเปิดเมือง โดยจัดอันดับความสำคัญ (piority) กลุ่มประเทศ และกลุ่มผู้ที่จะเดินทางเข้ามา แบ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ที่ต้องการเดินทางมาติดต่อธุรกิจ กลุ่มเวลเนส หรือผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการสุขภาพและรักษาพยาบาลในไทย และกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ผ่านการตรวจสอบสกรีนแล้ว จะทยอยให้เข้ามาก่อน จากนี้จะสื่อสารข้อสรุปนี้ไปยังรัฐบาล

ส่วนกรณีการที่นักโทษติดเชื้อโควิด-19 คงไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายทดลอง “ภูเก็ตโมเดล” และขณะนี้แนวคิดดังกล่าวจะขยายไปยังพื้นที่อื่น โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรกำหนดพื้นที่ “สมุยโมเดล” ทดลองเปิดให้ต่างชาติเดินทางเข้ามา โดยใช้โรงแรม หรือวิลล่าริมทะเล กักตัวตามมาตรฐาน retreat quarantin กำหนดแนวปฏิบัติชัดเจน เช่น จัดบุคลากรดูแล ให้บริการ ป้องกันการแพร่เชื้อ เป็นต้น

ตำรวจใช้เทคโนโลยีคุมเข้ม 24 ชม.

ขณะที่ พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามากักตัว 14 วัน ในระบบ ALSQ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน โดยจะจัดกำลังรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ให้ออกจากห้อง โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบ เช่น หากผู้รับการกักตัวเปิดประตูออกมาจะมีสัญญาณแจ้งเตือน ที่โทรศัพท์มือถือผู้เข้าเวรรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ทั้งนี้ ได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการ มีชุดฝ่ายอำนวยการ มีผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับบัญชา ระดับรองผู้บังคับการ ผู้กำกับการประจำศูนย์ มีชุดปฏิบัติการเฝ้าฯ ระดับสารวัตร ชุดเคลื่อนที่เร็วสอบสวนโรค ฯลฯ พร้อมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการแล้ว