ชงบอร์ด EEC เคาะลงทุน “สะพานไทย” เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

ส่งออก
แฟ้มภาพ

ชง บอร์ดอีอีซี เคาะโปรเจ็คลงทุน “สะพานไทย” เชื่อมอ่าวไทย – อันดามัน เหมือนโมเดลฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ดึงเอกชนร่วมทุน PPP มูลค่า 9.9 แสนล้าน กระจายความเจริญกระตุ้นเศรษฐกิจสองภาค ขนส่งสินค้า-คนฉลุย

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มอบให้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เสนอที่ประชุมอีอีซี พิจารณาโครงการร่วมทุนก่อสร้างโครงการสะพานไทย เชื่อมการขนส่งคน สินค้า และพลังงานคล้ายแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้า และประชาชนข้ามอ่าวไทย โดยเบื้องต้นกำหนดทางเลือก 2 เส้น คือ 1) ระหว่างแหลมฉบัง – เพชรบุรี หรือ 2) เส้นทางแหลมฉบัง-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีระยะทาง ประมาณ 80-90 กม.

โดยบริเวณดังกล่าวมีระดับน้ำที่ไม่ลึกมาก การลงทุนทำสะพาน โดยมีเกาะเทียม และเชื่อมลงอุโมงค์สองฝั่งจะทำให้ไม่กระทบต่อประชาชนบริเวณปลายสะพานสองข้าง

“ตอนนี้เรามุ่งพัฒนาโซนพื้นที่อีอีซี ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมาก เราไม่จำเป็นตั้งทำแบบอีอีซีไปทุกที่แต่แค่กระจายความเจริญจากฝั่งตะวันออกไป ทั้งสินค้า คน พลังงาน เช่น การท่องเที่ยวที่ผ่านมามีการกระจุกตัวฝั่งพัทยาจำนวนคนหนาแน่นกว่าฝั่งประจวบคีรีขันธ์ 10 เท่า ประกอบกับเมื่อเกิดปัญหาโควิดการลงทุนภาครัฐเป็นเครื่องจักรตัวเดียวที่ยังสามารช่วยขับเคลื่อนจีดีพีได้ ศบศ.จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการลงทุน ซึ่งโครงการนี้จะเป็น 1 ใน 30 โครงการที่ผลักดัน มูลค่าการลงทุน 9 แสนล้านบาท”

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอีอีซี ก็จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ (ฟิซิบิลิตี้) ซึ่งหากได้รับอนุมัติคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินศึกษาประมาณ 1 ปี ส่วนการก่อสร้างคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี