ดึงโมเดล EEC ปั้นเขตเศรษฐกิจใหม่ ดูดลงทุนหลังโควิด 4 แสนล้าน

อุตสาหกรรม

EEC-คลังเล็งเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 เขตทั่วไทย พร้อมเสริมสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ศักยภาพสูง บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉ.13 หนุนลงทุนหลังโควิด-19 โกยยอด
4 แสนล้านบาท ดัน GDP โต 4-5%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯอีอีซี) เปิดเผยว่า ในระหว่างที่ทั่วโลกยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การลงทุนต้องชะลอ แต่ในทางกลับกันเป็นจังหวะดีที่ประเทศไทยจะใช้เวลานี้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมพื้นที่เพื่อรอการลงทุนที่จะกลับมาหลังสถานการณ์ปกติ

และหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาพื้นที่โดยการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นโมเดลต้นแบบ โดยจะกำหนดอุตสาหกรรมให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้แผนดังกล่าวจะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (ปี 2566-2570) หลังเริ่มทำการศึกษาร่วมกับหลายหน่วยงาน

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาจะแบ่งออกเป็น 21 เขต 9 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่ม 1 คือ พื้นที่เขตมหานคร มี 6 จังหวัด กรุงเทพฯและปริมณฑล มีแรงงานอพยพเข้าออก 3.8 ล้านคน

กลุ่ม 2 ที่เชื่อมต่อจาก EEC คือ จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว มีแรงงานอพยพเข้า 1.7 ล้านคน

กลุ่ม 3 ภาคกลาง คือ SME 1 อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท, SME 2 คือ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์, SME 3 คือ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี มีแรงงานเข้า 2.6 พันคน มีแรงงานย้ายออก 1.65 แสนคน

กลุ่ม 4 RCEC คือ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ มีแรงงานย้ายออก 4 หมื่นคน

กลุ่ม 5 SAEZ คือ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี กำแพงเพชร แรงงานย้ายออก 1.4 แสนคน

กลุ่ม 6 WEC คือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก แรงงานย้ายออก 1.8 แสนคน

กลุ่ม 7 ตะวันออกเฉียงเหนือ NEEC คือ NEEC 1 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์, NEEC 2 ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด, NEEC 3 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร, NEEC 4 มุกดาหาร สกลนคร นครพนม, NEEC 5 อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย มีแรงงานย้ายออก 3.3 ล้านคน

กลุ่ม 8 เหนือ คือ NEC 1 เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง, NEC 2 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน มีแรงงานย้ายออก 3.1 แสนคน

และกลุ่ม 9 ใต้ คือ EC 1 ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี, EC 2 ภูเก็ต พังงา กระบี่, EC 3 นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง, EC 4 สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล มีแรงงานเข้า 1.28 แสนคน แรงงานย้ายออก 2.7 แสนคน

“การกำหนดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใหม่ขึ้นมานี้จะเป็นหนึ่งในการดึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เข้ามาไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท หากบวกกับรายได้การท่องเที่ยวจะส่งผลให้ GDP โตได้ 4-5% เป้าหมายเพื่อควบรวมเศรษฐกิจ ประชากร เมือง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจูงใจนักลงทุน ลดภาระการคลังและหนี้สาธารณะด้วยการเพิ่มการลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) สร้างการเติบโตของ GDP ปลดล็อกกลไกรัฐและสร้างศักยภาพพื้นที่ ดึงเงินออมจากภาคธุรกิจ มาลงทุนในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจเมืองรองขึ้นมา และยังเป็นการสร้างการจ้างงานที่มีผลิตภาพสูง”

ทั้งนี้ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใหม่ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่งพัฒนาเชิงพื้นที่ และได้มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ 4 ชุด คือ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธาน ชุดเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ นายคณิศ แสงสุพรรณ ด้านฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ นายรัชตะ รัตนะนาวิน ด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจร และนายศักรินทร์ ภูมิรัตน ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัล