ชาวสวนลำไยมีลุ้น “บอร์ดผลไม้” จ่อเคาะมาตรการเยียวยา หลังราคาลำไย-ทุเรียนดิ่ง

ผลลำไย

จุรินทร์-เฉลิมชัย ปลดล็อกส่งออก “ทุเรียน ลำไย” ไปตลาดจีน ชงเยียวยาเข้า “บอร์ดผลไม้” พร้อมเร่ง 3 มาตรการกู้วิกฤตราคา โหมแฟร์

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาผลไม้ว่า กรณีที่ชาวสวนลำไยมีความเห็นว่าอยากจะได้รับเงินเยียวยาเนื่องจากปีนี้ราคาตกต่ำมากนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) ต่อไป

“วันนี้ล้งรับซื้อทุเรียนที่จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นจุดรับซื้อใหญ่ของภาคใต้ เปิดรับซื้อปกติครบทุกล้งแล้ว ทั้งล้งที่รับซื้อเพื่อไปขายตลาดในประเทศและล้งที่รับซื้อเพื่อส่งการออกส่งผลให้ราคากระเตื้องขึ้น คาดว่าในช่วงเวลานี้จะมีทุเรียนออกในเดือนสิงหาคมประมาณ 50,000 ตัน สำหรับภาคใต้ทั้งหมด”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนลำไย ประเด็นปัญหาใหญ่สำหรับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีนในช่วงนี้ที่มีข่าวว่าจะมีการระงับการนำเข้าลำไยจากไทย ขณะนี้ทูตพาณิชย์และทูตเกษตรรวมทั้งทีมไทยแลนด์ที่เมืองจีนเจรจากับทางการจีนและปรากฏผลสำเร็จชัดเจนแล้วว่าจีนอนุญาตให้ล้งทุกล้งในประเทศไทยที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสุขอนามัยสามารถรวบรวมลำไยและส่งออกไปยังตลาดจีนได้ทุกล้ง สำหรับการส่งเสริมการส่งออกลำไยไปต่างประเทศเพื่อให้เป็นช่องทางระบายช่วยชาวสวน ช่องทางการตลาดของกระทรวงพาณิชย์มีแผนงานที่มีความชัดเจน

โดยดำเนินการใน 3 ส่วน 1.การจัดเทศกาลส่งเสริมการบริโภคลำไยใน 12 เมืองใหญ่ของจีนประกอบด้วย อู่ฮั่น ฝอซาน คุนหมิง ต้าเหลียน หนานหนิง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ชิงต่าว ไห่หนาน ฉงชิ่ง เซี่ยเหมิน หนานชาง สำหรับตลาดในฮ่องกงได้มีการเตรียมการทำกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคลำไยภายในฮ่องกงวันที่ 11-12 กันยายน รวมทั้งตลาดในอินเดียส่งเสริมการบริโภคใน 4 รัฐ ประกอบด้วย รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐหรยานา รัฐอุตตรประเทศ และรัฐเตลังคานา ส่วนสิงคโปร์ใช้วิธีการส่งเสริมการบริโภคโดยให้มีการผ่านช่องทางจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม Lazada และ Freshmart

2.การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่เพื่อให้มีการซื้อขายระหว่างผู้นำเข้าต่างประเทศกับผู้ส่งออกลำไยของไทยในกลุ่มในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ที่จะถึงนี้ และ 3.กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายช่วยสนับสนุนให้ล้งหรือผู้รวบรวมที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมลำไยมีเงินช่วยเหลือกิโลกรัมละ 3 บาท และกิโลกรัมละ 5 บาทสำหรับผู้รวบรวมเพื่อส่งออก เพื่อให้มีสภาพคล่องไปรับซื้อลำไยจากเกษตรกรได้ในราคาที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกผลไม้ 6 เดือนแรกของปี 64 มูลค่า 98,626.42 ล้านบาท +37.68% เทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 63