BOI ปลดล็อก Local Content 30% ลงทุนใช้หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติในโรงงาน

บอร์ดบีโอไออนุมัติมาตรการสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมและบริการให้เป็นระบบอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติในโรงงานได้ หวังดันไทยสู่ ก้าว Industry 4.0 ผู้ประกอบการไม่ต้องเข้าเงื่อนใช้ local content 30% ได้ยกเว้นภาษี 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง คาด 10,000 โรงงานใน EEC ได้อานิสงส์เพียบ ทั้งนี้บอร์ดยังต่ออายุมาตรการ SMEs อีก 1 ปี ยื่นขอบีโอไอได้ถึงสิ้นปี’65

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่ Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนดในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Automation and Network Technology) การวิเคราะห์ข้อมูลและการปฏิบัติการที่ชาญฉลาด (Smart Operation) หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการในกระบวนการผลิตและการบริหารองค์กร (Digital Technology in Production & Enterprise Processes) เป็นต้น

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

“จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่า ระดับอุตสาหกรรม 3.0 มีเพียง 28% บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงในหลายมิติไปพร้อม ๆ กัน ทั้งระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิทัล และใช้เงินลงทุนสูง มาตรการใหม่นี้จะช่วยเสริมมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่ระบบอัตโนมัติและมาตรการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ที่มีอยู่เดิม”

ซึ่งเดิมมาตรการดังกล่าวจะมีเงื่อนไขที่ว่า หากลงทุนใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเพื่อปรับปรุงการผลิตในสถานประกอบการของตนเอง นอกจากจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรแล้ว แต่จะต้องมีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (local content) ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยน จึงจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน

ครั้งนี้บอร์ดได้ปลดล็อก 30% ดังกล่าวให้ แต่มีเงื่อนไขใหม่ว่าต้องปรับปรุงเพื่อไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามที่ สวทช. ประเมิน ซึ่งแน่นอนว่าในพื้นที่ EEC มีอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เข้าเงื่อนไขกว่า 10,000 โรงงาน แม้การไปถึง 4.0 จะยากแต่เชื่อว่าในอีก 4-5 ปี มาตรการดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยก้าวไปถึง 4.0 ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขหรือยังไม่สามารถไปถึง 4.0 ได้ จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเดิม คือต้องมีเงื่อนไข (local content) ไม่น้อยกว่า 30% เช่นเดิม และในช่วงที่ผ่านมาก็ยังคงพบว่าผู้ประกอบการยังไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพไปถึง 4.0 ได้ ดังนั้นมาตรการเดิมเงื่อนไขเดิมยังคงต้องมีอยู่

สำหรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 9 เดือนปี 2564 มีมูลค่า 7,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 177% หรืออยู่ที่ 2,666 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนปีนี้มีจำนวน 45 โครงการ เพิ่มขึ้น 67% จาก 27 โครงการของปีก่อน

นอกจากนี้ที่ประชุมยังอนุมัติขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของปี 2564 โดยมาตรการพิเศษสำหรับ SMEs กำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) เพื่อกระตุ้นให้ SMEs พัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริม SMEs ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคและเขตเศรษฐกิจพิเศษ