รู้จัก OIE หากไทยแจ้งพบเชื้อ ASF ในสุกร จะมีผลกระทบอย่างไร

หมู

ทำความรู้จัก OIE องค์การสุขภาพสัตว์โลก และผลกระทบหากไทยยอมรับและแจ้งการพบเชื้อ ASF ในสุกร

วันที่ 14 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี กรมปศุสัตว์ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) จากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะทำงานด้านวิชาการและด้านโรคติดต่อ โรคระบาดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า เมื่อสรุปตรงกันว่ามีเชื้อในประเทศไทย จะมีการรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ Office International des Epizooties; OIE) เพื่อแจ้งให้ประเทศสมาชิกทราบต่อไป โดยดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการปกติของการพบโรคระบาด

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก OIE องค์การระหว่างประเทศที่ปรากฏในข่าวบ่อยครั้งในช่วงนี้ พร้อมสำรวจผลกระทบ หาก OIE ประกาศว่ามีการพบเชื้อ ASF ในประเทศไทย

OIE คืออะไร

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า องค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organization for Animal Health : OIE) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาล มีการลงนามเพื่อก่อตั้ง OIE ตามข้อตกลงของนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2467 เพื่อเป็นองค์การกลางในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้โรคระบาดสัตว์ก่อความสูญเสียต่อชีวิตสัตว์และมนุษย์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก โดยมีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 176 ประเทศ รวมประเทศไทย

เป้าหมายในการก่อตั้ง OIE

หนึ่งในพันธกิจขององค์การ OIE คือ การสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดสัตว์ทั่วโลก (Transparency: Ensure transparency in the global animal disease situation) โดยประเทศสมาชิกจะต้องมีการรายงานหากตรวจพบโรคสัตว์ในเขตพื้นที่ให้ OIE

หลังจากนั้น OIE จะเผยแพร่ข้อมูลการพบโรคให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ทราบ เพื่อให้สามารถเตรียมมาตรการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งหากกรมปศุสัตว์ได้รายงานโรคระบาด ASF ในสุกรที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะทำให้ไทยติดลิสก์กับ OIE

หากไทยยอมรับพบเชื้อ ASF ติดลิสต์ OIE จะเกิดอะไรขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโรคจากเชื้อไวรัส ASF ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดในประเทศ จะทำให้กำจัดโรคได้ยากมาก เนื่องจากเชื้อไวรัสมีความทนทานปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สุกรและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลาดชีวิต และความรุนแรงของโรคยังทำให้สุกรที่ติดเชื้อแล้วตายเฉียบพลันเกือบ 100%

นอกจากนี้ หากกรมปศุสัตว์ยอมรับการระบาดของโรค ASF ยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ดังนี้

1. โดนระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ-เนื้อสุกรแปรรูป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท

2. การสูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของการส่งออกสุกรมีชีวิตไทย ได้แก่ กัมพูชา มูลค่า 10,000 ล้านบาท, สปป.ลาว 1,700 ล้านบาท, เมียนมา 700 ล้านบาท และเวียดนาม 3,400 ล้านบาท

3. ความเสียหายด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท และ 4) ความเสียหายด้านยาสัตว์อีก 3,500 ล้านบาท (ข้อ 3-4 ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ 50%)

การขอคืนสภาพปลอด ASF

ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในสุกรตามที่ OIE กำหนดใน Terrestrial Animal Health Code (CHAPTER 15.1. INFECTION WITH AFRICAN SWINE FEVER VIRUS) สามารถขอคืนได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  • country free
  • zone free
  • compartment free

โดยต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังโรคและไม่มีสุกรป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในสุกรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งสินค้าสุกรที่ถูกนำเข้ามาเป็นไปตามข้อกำหนดของ OIE ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks) เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ มีหลักฐานการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้ายและร่วมกับมีการการทำลายสุกร และใช้สุกรสำหรับการเฝ้าระวังโรค (sentinel pigs) ในโรงเรือน โดยผลที่ได้ต้องเป็นลบต่อเชื้อ ASF ในสุกร

FAO-OIE สงสัยมานาน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการสัตวแพทย์เผยว่า การเพิ่งออกมายอมรับการเกิดโรค ASF ในหมูนั้น ที่ผ่านมาได้สร้างความอึดอัดใจให้กับข้าราชการผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยมีคนยืนยันว่า ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญของโลก

ได้กังวลกับข่าวการลุกลามของโรค ASF ที่ออกมาเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านี้ และได้ทำหนังสือส่งถึงกรมปศุสัตว์ผ่านทางอีเมล์นับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ทางกรมปศุสัตว์ตอบกลับไปยัง FAO และ OIE ว่า โรคระบาดหมูที่เกิดขึ้นในประเทศเป็น โรคเพิร์ส (PRRS) ไม่ใช่โรค ASF

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าหากโรค ASF มีการระบาดมานานกว่า 2 ปี และไม่มีการรายงานไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เพราะเกรงจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกหมูมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ แต่ทางประเทศที่เกิดการระบาดสามารถ “ควบคุมโรค” และ “ป้องกันโรคได้” ก็เป็นเรื่องที่สามารถตกลงกับประเทศคู่ค้าให้ยอมรับการส่งออกก็ได้

แต่สถิติการส่งออกหมูและซากหมูทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2563 พบว่า มีมูลค่าสูงมากกว่า 22,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “หากประเทศไทยติด List ASF ของ OIE แล้ว

เป็นเรื่องยากมากที่จะปลดออกจากประเทศที่ควบคุมการระบาดหรือป้องกันโรคได้ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะกำจัดโรคได้หมด นั่นหมายถึงโอกาสในการทำตลาดส่งออกหมูเป็นและผลิตภัณฑ์จะหมดไป รวมไปถึงความฝันที่ว่าไทยจะเป็นผู้เลี้ยงหมูอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย”