โรคระบาดหมู ASF เสียหาย 5.5 หมื่นล้าน ส่งออกป่วน-วืดเบอร์ 1 อาเซียน

กรมปศุสัตว์ “ยอมรับ” ตรวจพบโรคระบาดร้ายแรง “อหิวาต์แอฟริกันหมู ASF” ที่นครปฐม หลัง ครม.มีมติเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2562 ยืนยันหมูไทยติด ASF  พร้อมประกาศเขตโรคระบาด-แจ้งองค์การโรคระบาดสัตว์ (OIE) ส่งผลหมูไทยและผลิตภัณฑ์แปรรูปเสี่ยงส่งออกไม่ได้ ภาพรวมหากคุมระบาดไม่ได้ 100% เสียหายทั้งระบบกว่า 55,000 ล้านบาท ยอดส่งออกเสียหาย 22,000 ล้านบาท ดับฝันเป็นผู้เลี้ยงหมูอันดับ 1 ของอาเซียน

หลังจากที่มีรายงานหมูตายเป็นจำนวนมากในพื้นที่เลี้ยงหมูหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามมาด้วยข้อสงสัยที่ว่า หมูไทยติดโรคระบาดร้ายแรง “อหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF” ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษามาตั้งแต่กลางปี 2564

ล่าสุดกรมปศุสัตว์เพิ่งออกมา “ยอมรับ” แล้วว่า ตรวจพบเชื้อโรค ASF จากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม และหากโรคระบาดลุกลามออกไปจนไม่สามารถควบคุมได้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท

เจอ ASF ที่นครปฐม

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องในวงการปศุสัตว์ที่ว่า ประเทศไทย “ปกปิด” การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งปี วันนี้ (11 มกราคม 2565) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในหมู ได้ออกมา “ยอมรับ” เป็นครั้งแรกว่า

ตรวจพบเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่างที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม จากตัวอย่างทั้งหมดที่เก็บมา 309 ตัวอย่าง โดยตัวอย่างนี้ได้รับการยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ และกรมปศุสัตว์เห็นควรที่จะประกาศว่า ประเทศไทยพบโรค ASF และจะรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ต่อไป

โดยกรมปศุสัตว์จะดำเนินการประกาศเป็น “เขตโรคระบาด” และมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายหมูในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค พร้อมกับจะต้องพิจารณา “ทำลายหมู” ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรค ASF และจ่ายค่าชดใช้ราคาหมูที่ถูกทำลาย

ส่วนการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรคนั้น การเคลื่อนย้ายหมูทุกกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ก่อน

หวั่นเสียหาย 55,000 ล้านบาท

มีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาว่า เมื่อเกิดการระบาดของโรค ASF ขึ้นในประเทศจะทำให้ “กำจัด” โรคนี้ได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโรคจากเชื้อไวรัส แม้โรค ASF จะไม่ติดต่อมาสู่คน

แต่เชื้อไวรัสมีความทนทานปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์หมูและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมสูง หมูที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลาดชีวิต และความรุนแรงของโรคยังทำให้หมูที่ติดเชื้อแล้วตายเฉียบพลันเกือบร้อยละ 100

จากตัวเลขล่าสุดพบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวน 187,272 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรรายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงหมูขุน 2,246,332 ตัว หมูพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกหมู 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงหมูขุน 5,746,265 ตัว หมูพันธุ์ 683,998 ตัว และลูกหมู 1,532,035 ตัว โดยกระทรวงเกษตรฯได้ประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากโรค ASF ไว้ดังต่อไปนี้

กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของหมูที่เลี้ยง เกษตรกรจะเกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 16,678,497,000 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของหมูที่เลี้ยง จะเสียหาย 27,792,723,500 บาท กรณีเกิดโรคร้อยละ 80 ของหมูที่เลี้ยงจะเสียหาย 44,468,357,600 ล้านบาท และกรณีเกิดโรคร้อยละ 100 จะเสียหายคิดเป็นมูลค่า 55,585,447,000 บาท

นอกจากนี้การยอมรับการระบาดของโรค ASF ยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 1) การโดนระงับการส่งออกเนื้อหมูชำแหละ-เนื้อหมูแปรรูป คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท

2) การสูญเสียโอกาสการส่งออกหมูมีชีวิตคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของการส่งออกหมูมีชีวิตไทย ได้แก่ กัมพูชา มูลค่า 10,000 ล้านบาท, สปป.ลาว 1,700 ล้านบาท, เมียนมา 700 ล้านบาท และเวียดนาม 3,400 ล้านบาท

3) ความเสียหายด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท และ 4) ความเสียหายด้านยาสัตว์อีก 3,500 ล้านบาท (ข้อ 3-4 ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50)

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่า โรค ASF ที่กรมปศุสัตว์เพิ่งออกมายอมรับว่า ตรวจพบที่ “นครปฐม” นั้น จะขยายวงกว้างไปยังแหล่งเลี้ยงหมูสำคัญ ๆ ของประเทศมากน้อยแค่ไหน

แต่ในมุมกลับกันพบว่า ก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึงธันวาคม 2563 มีการดำเนินการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงตามแผนรับมือโรค ASF คิดเป็นจำนวนหมู 122,631 ตัว มูลค่า 467 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 คิดเป็นจำนวนหมู 19,760 ตัว มูลค่า 93 ล้านบาท

ด้าน นายภมร ภุมรินทร์ ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี จำกัด กล่าวว่า การประกาศประเทศไทยมีโรค ASF หรือไม่นั้น “ตอนนี้ไม่มีความหมายแล้วเพราะหมูลงหลุมไปหมดแล้ว” ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์เองก็ทราบดีว่า มีโรค ASF เกิดขึ้นมา 3 ปีแล้ว ผู้เลี้ยงหมูทราบกันอยู่แล้วว่า มีโรคนี้ ไม่ใช่โรคเพิร์ส เพราะตนเองเลี้ยงหมูมา 30-40 ปีแล้ว โรคเพิร์สมีวัคซีนป้องกันได้

ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหา แต่ไม่ดำเนินการ ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาโรคระบาด เฉพาะภาคตะวันออกก็เสียหายระดับ 10,000 ล้านบาททั่วประเทศเสียหายกว่า 100,000 ล้านบาท สิ่งที่รัฐบาลและกรมปศุสัตว์จะต้องดำเนินการคือ ต้องเร่งช่วยผู้เลี้ยงอย่างจริงใจด้วยการ

1) ต้องเร่งจ่ายงบประมาณเยียวยาชดเชยให้ผู้เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบ 2) สร้างมาตรฐานการเลี้ยงให้กับรายเล็ก รายย่อย และ 3) เจรจากับธนาคารลดหย่อนภาระหนี้ให้กับผู้เลี้ยงหมู

FAO-OIE สงสัยมานาน

แหล่งข่าวจากวงการสัตวแพทย์กล่าวถึงการเพิ่งออกมายอมรับการเกิดโรค ASF ในหมูนั้น ที่ผ่านมาได้สร้างความอึดอัดใจให้กับข้าราชการผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด โดยมีคนยืนยันว่า ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญของโลก

ได้กังวลกับข่าวการลุกลามของโรค ASF ที่ออกมาเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านี้ และได้ทำหนังสือส่งถึงกรมปศุสัตว์ผ่านทางอีเมล์นับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ทางกรมปศุสัตว์ตอบกลับไปยัง FAO และ OIE ว่า โรคระบาดหมูที่เกิดขึ้นในประเทศเป็น โรคเพิร์ส (PRRS) ไม่ใช่โรค ASF

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าหากโรค ASF มีการระบาดมานานกว่า 2 ปี และไม่มีการรายงานไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องก็เพราะเกรงจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกหมูมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ แต่ทางประเทศที่เกิดการระบาดสามารถ “ควบคุมโรค” และ “ป้องกันโรคได้” ก็เป็นเรื่องที่สามารถตกลงกับประเทศคู่ค้าให้ยอมรับการส่งออกก็ได้

แต่สถิติการส่งออกหมูและซากหมูทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2563 พบว่า มีมูลค่าสูงมากกว่า 22,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปี 2562 และยังมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “หากประเทศไทยติด List ASF ของ OIE แล้ว

เป็นเรื่องยากมากที่จะปลดออกจากประเทศที่ควบคุมการระบาดหรือป้องกันโรคได้ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะกำจัดโรคได้หมด นั้นหมายถึงโอกาสในการทำตลาดส่งออกหมูเป็นและผลิตภัณฑ์จะหมดไป รวมไปถึงความฝันที่ว่าไทยจะเป็นผู้เลี้ยงหมูอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมภาพรวมการส่งออกหมู จากข้อมูลกรมศุลกากร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป สุกรพันธุ์และสุกรมีชีวิต โดยปี 2559 ก่อนการระบาด ไทยส่งออกเนื้อสุกรชำแหละส่งออก 3,324 ตัน มูลค่า 169.26 ล้านบาท เนื้อสุกรแปรรูป 10,336 ตัน มูลค่า 2,183 ล้านบาท สุกรพันธุ์และสุกรมีชีวิต 1.04 ล้านตัน มูลค่า 5,265 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2561 ที่เริ่มมีการระบาดโรค ASF หลายประเทศรอบไทย ทำให้มีการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ 2,388 ตัน มูลค่า 178 ล้านบาท เนื้อสุกรแปรรูป 7,977 ตัน มูลค่า 1,919 ล้านบาท สุกรพันธุ์และสุกรมีชีวิต 815,385 ตัน มูลค่า 3,184 ล้านบาท

และเมื่อปี 2563 ซึ่งเริ่มมีรายงานการพบโรคระบาด แต่การส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้น 26,063 ตัน มูลค่า 3,236 ล้านบาท เนื้อสุกรแปรรูป ปริมาณ 8,554 ตัน มูลค่า 1,790 ล้านบาท และสุกรพันธุ์และสุกรมีชีวิต 2.76 ล้านตัน มูลค่า 17,164 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2564 ไทยส่งออกเนื้อสุกรแปรรูปและชำแหละ รวมปริมาณ 18,708 ตัน มูลค่า 2,727 ล้านบาท และสุกรพันธุ์และสุกรมีชีวิต 815 ตัน มูลค่า 5,809.2 ล้านบาท

ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์พบการระบาดของโรค ASF ที่จังหวัดนครปฐม “ที่ผ่านมาในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็ได้รับรายงานการเกิดโรค ASF ไม่ต่างกับสื่อมวลชน”

ดังนั้นหลังจากมีหมูป่วยตายก็ทำให้ราคาหมูในประเทศราคาแพงขึ้น “ผมเสนอกระทรวงพาณิชย์ให้มีการนำเข้าหมูมาบริโภคภายในประเทศก่อน หลังจากที่หมูไทยหายจากระบบ เบื้องต้นสามารถนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาถูกได้ภายใน 3 วัน ขอเพียงแต่กระทรวงพาณิชย์อนุมัติการนำเข้าเท่านั้น ส่วนที่พบ ASF ในไทย เบื้องต้นคงไม่กระทบการส่งออก เพราะขณะนี้หมูไทยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ไม่มีให้ส่งออกแล้ว” นายประภัตรกล่าว

พาณิชย์ตรึงหมู 150 บาทต่อ

ส่วนสถานการณ์หมูเนื้อแดงในประเทศมีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากกรณีหมูตายจากโรคระบาดนั้น นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริโภคหมูลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงหลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทางผู้เลี้ยงหมูก็ลดจำนวนลง ส่งผลให้ปริมาณหมูเลี้ยงหายไปประมาณ 30% ทำให้ราคาหมูปรับเพิ่มขึ้น

ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงได้ดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาหมู โดยจำหน่ายหมูเนื้อแดงราคา กก.ละ 150 บาท ต่อเนื่องถึง 31 มกราคม 2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 15 มกราคม 2565 นี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเข้ามาว่า นอกจากหมูเนื้อแดงจะปรับราคาขึ้นมาแล้ว ราคาไข่และไก่ก็ขยับขึ้นตามมาติด ๆ จากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยราคาไข่คละเดิมอยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง ขึ้นมาเป็น 3 บาท/ฟอง หรือเฉลี่ยแผงละ 6 บาท ส่วนราคาไก่สดมีรายงานเข้ามาว่า ปรับขึ้นราคาไปอีก กก.ละ 13 บาท