หมูแพงลากยาวถึงตรุษจีน ห้ามส่งออกไร้ผลคุมราคา

หมู

ราคาหมูพุ่งไม่หยุด เนื้อแดงขยับขึ้นเกินกว่า กก.ละ 200 บาท สะท้อนมาตรการรัฐห้ามส่งออกหมูมีชีวิตไร้ผล ดึงราคาหมูลงมาไม่ได้ เหตุฟาร์มส่วนใหญ่ไม่กล้าลงหมูเลี้ยงรอบใหม่เพราะเกิดโรคระบาดร้ายแรงในหมูที่ยังควบคุมไม่ได้ ด้านฟาร์มรายใหญ่ประสานเสียง “ต้าน” การนำเข้าหมูมีชีวิต

ราคาหมูหน้าฟาร์มได้พุ่งทะลุ กก.ละ 100 บาทไปแล้ว ส่งผลให้ราคาหมูเนื้อแดงขยับขึ้นเกินกว่า กก.ละ 200 บาท จากปัญหาโรคระบาดร้ายแรงในหมู วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น

ทำให้ปริมาณการเลี้ยงหมูลดลงกว่าครึ่งและไม่มีการนำลูกหมูใหม่เข้ามาเลี้ยงทดแทน เนื่องจากเสี่ยงต่อโรคระบาด ในขณะที่รัฐบาลโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามที่จะหาวิธีทำให้ราคาหมูเนื้อแดงลดลง ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือให้ตรึงราคาเนื้อหมู ไปจนกระทั่งห้ามส่งออกห มู

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาราชกิจจานุ เบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2565 เรื่องห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร ลงนามโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 มีสาระสำคัญอยู่ที่การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน (วันที่ 6 ม.ค.-5 เม.ย. 2565)

เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณหมูกลับสู่ตลาดในประเทศ 1 ล้านตัว และสั่งการให้ผู้เลี้ยงที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กก.ขึ้นไป ต้องแจ้งสต๊อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคาทุก 7 วัน โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมเป็นต้นไป

ห้ามส่งออกหมูแค่จิตวิทยา

มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เข้ามาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. อาจจะพิจารณา “ขยายมาตรการห้ามส่งออก” ต่อไปอีกหลังพ้น 3 เดือนไปแล้วขึ้นอยู่กับสถานการณ์

หากราคาหมูเนื้อแดงในประเทศยังไม่ลดลง ส่วนมาตรการด้านการนำเข้าหมูเพื่อทดแทนปริมาณหมูที่หายไปนั้น ในขณะนี้ “ยังไม่มีการพิจารณา” เนื่องจากเป็นอำนาจของกรมปศุสัตว์

ด้านนายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงมาตรการห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือนว่า เป็นมาตรการที่มาช่วยด้านจิตวิทยาเท่านั้น เพราะการส่งออกเฉลี่ยคิดเป็นจำนวนหมูเพียง 32,000 ตัว/วัน เทียบกับการบริโภคที่มีปริมาณ 40,000 ตัว/วัน

“รัฐบาลควรเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงในหมู รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ส่วนมาตรการเงินกู้ของ ธ.ก.ส.ที่ให้วงเงิน 100,000 บาทนั้น

เมื่อเทียบเป็นต้นทุนหมูตัวละ 10,000 บาทถือว่าน้อยมากแทบไม่ได้อะไรเลย การไม่มีวัคซีนป้องกันโรคระบาดร้ายแรงทำให้ผู้เลี้ยงหมูไม่มีความมั่นใจที่จะกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ และยังติดปัญหาการขาดแคลนลูกหมูด้วย” นายสุรชัยกล่าว

สอดคล้องกับนายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่ภาครัฐออกมาเพื่อแก้ปัญหาหมูมีราคาแพงนั้น

“ยังเกาไม่ถูกที่คัน” โดยเฉพาะการจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมูได้ ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรหรือ ASF ซึ่งถือเป็นโรคระบาดร้ายแรงนั้น

ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและไม่มียารักษา การกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะถึงเลี้ยงไปหมูก็ติดโรคระบาดตามเพิ่มขึ้นอีก เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจะนำเงินที่ไหนไปจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยธนาคาร

“แม้ว่าฟาร์มหมูรายใหญ่ รายกลาง รายย่อย ต่างทำระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม (biosecurity) แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน ทำให้แทบทุกฟาร์มเจอโรคระบาดร้ายแรงเสียหายกันถ้วนหน้า

ส่วนการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีการนำเข้า หากจะนำเข้าต้องมีระบบการควบคุมที่ดีไม่ให้กระทบผู้เลี้ยงหมูระยะยาว ส่วนการห้ามส่งออกหมูที่ออกมานั้น ปัจจุบันก็ไม่มีใครส่งออกกันอยู่แล้ว เพราะราคาขายหมูในประเทศดีกว่าราคาส่งออก” นายพิพัฒน์กล่าว

เบทาโกรแนะคุมราคาวัตถุดิบ

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์ในส่วนของซัพพลายหมูอย่างใกล้ชิด โดยเบทาโกรได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐในหลายส่วน

เช่น การเข้าร่วมโครงการหมูธงฟ้าและการรักษาระดับปริมาณการผลิตหมูและคงราคาไม่ให้สูงขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจหมูรายย่อย การมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมต่าง ๆ เช่น การควบคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดจนถึงการดูแลผู้เลี้ยงรายย่อยในกรณีที่มีโรคระบาดร้ายแรง จะเป็นการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบันได้

“ในส่วนของมาตรการห้ามส่งออกหมูตัวมีชีวิต เบทาโกรอยู่ระหว่างปรับแผน เนื่องจากเรามีธุรกิจฟาร์มหมูในกัมพูชาและ สปป.ลาว ซึ่งต้องมีการส่งพ่อแม่พันธุ์หมูไปจากประเทศไทย”

จับตาราคาหมูหลังตรุษจีน

ด้านแหล่งข่าวในวงการผู้ผลิตและจำหน่ายหมูรายใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติประเทศไทยส่งออกหมูเป็นปีละ 1,000,000 ตัว หรือเฉลี่ยวันละ 2,000-6000 ตัว ในจำนวนนี้รวมถึงการส่งออก “ลูกหมู”

ของเครือเบทาโกรด้วยแต่ในกรณีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดหมูอยู่ประมาณ 30% นั้น “ไม่ได้รับผลกระทบ”เพราะการเลี้ยงหมูของ CPF ในต่างประเทศที่จีน-เวียดนาม ทำแบบครบวงจร ส่วนฐานผลิตหมูในประเทศไทย CPF ผลิตได้ปีละ 6 ล้านตัว และขายในประเทศสัดส่วนมากกว่าการส่งออก

“การควบคุมการส่งออกหมูมีชีวิตควรทำระยะสั้นเท่านั้น โดยมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ราคาหมูลดลงในทันที ต้องรอซักระยะหนึ่ง เพราะกลไกตลาดช่วงนี้ความต้องการหมูค่อนข้างสูงไปจนถึงช่วงตรุษจีน อาจจะมีการขยับราคาอีกครั้ง แต่คงไม่ถึง 300 บาท หลังจากนั้นแนวโน้มราคาหมูน่าจะลดลง”

โดยราคาของไทยคงไม่เท่ากับจีนในช่วงที่มีโรคระบาด ASF ปรากฏราคาหมูหน้าฟาร์มจีนพุ่งขึ้นไปถึง กก.ละ 160 บาท ส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงขึ้นไป กก.ละ 300-400 บาท

แต่หมูเนื้อแดงไทยคงจะไม่ขึ้นสูงขนาดนั้น เพราะโครงสร้างการเลี้ยงหมูต่างกัน โดยสัดส่วนของฟาร์มหมูรายย่อยจีนมีมากกว่า 80-90% รายใหญ่ 5-10% ทำให้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ทำได้ยาก แต่ประเทศไทยมีฟาร์มรายย่อย 30-40% รายใหญ่ 50-60% นั่นทำให้ไทยสามารถป้องกันโรคระบาดได้ดีกว่าและดีที่สุดในเอเชีย

ส่วนการกำหนดมาตรการนำเข้าหมูเป็นนั้น “ยังไม่ควรจะอนุญาตให้มีการนำเข้า” เพราะปัจจุบันมีความกังวลเรื่องการส่งผ่านสิ่งมีชีวิตข้ามพรมแดนเหมือนกับการควบคุมโควิด-19 ที่ทุกประเทศจะบล็อกการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

ที่สำคัญก็คือ ทุกประเทศที่เลี้ยงหมูรอบ ๆ ประเทศไทยต่างแจ้งพบโรคระบาดหมูร้ายแรง ASF กันหมด มีเพียง “ไทย” ประเทศเดียวที่กรมปศุสัตว์ยืนยันไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF ในประเทศ มีแต่โรคเพิร์ช MDF ซึ่งคล้ายกับโรค ASF ที่แพร่ระบาดมากขึ้นเท่านั้น

“กรณี ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นการทุบรายย่อย ซึ่งเไมรู้ว่ากรมปศุสัตว์จะทำสิ่งนี้ไปทำไม ในเมื่อเรื่องของอุตสาหกรรมอาหารการที่เราไม่มีโรคไม่มีปัญหาทุกคนอยู่ได้โดยสันติถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า

เพราะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดหรือเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีผู้บริโภคจะเลิกบริโภคสินค้าชนิดนั้นทั้งหมดโดยไม่เลือกว่าจากรายเล็กหรือรายใหญ่ ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่ประเทศจีนประสบปัญหาส่งออกอาหารไม่ได้เลย เพราะไม่ได้รับการยอมรับ แต่เป็นจังหวะที่ตลาดภายในโดเมสติกของเขาดีจึงไม่มีปัญหา

“วันนี้รายใหญ่เจอการระบาดแต่ไม่เยอะเพราะนโยบายคือถ้าเจอต้องจำกัดบริเวณมันให้ได้โดยเร็ว และโชคดีที่ว่าผู้ผลิตรายใหญ่จะมีสินค้าหลายตัวมีฐานการผลิตอยู่ในหลายประเทศมาเป็นตัวช่วยกระจายความเสี่ยง ปีนี้แผนยอดน่าจะเพิ่ม

มีเรื่องราคาที่ปรับสูงขึ้นมาช่วยแต่ 4-5 เดือนตลาดจะปรับสมดุลเอง ถ้าแพงคนจะไม่กิน และรายย่อยก็จะกลับมาเลี้ยง ผลคือปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้น”