เปิดไทม์ไลน์โรคระบาดหมู (ASF) ครม. ตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ปี’62

ภาพจาก Pixabay

เปิดไทม์ไลน์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) หลังพบการระบาดครั้งแรกที่จีน เมื่อปี 2561 กระทั่งกรมปศุสัตว์ของไทยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าพบการติดเชื้อ 

วันที่ 12 มกราคม 2565 กรณีกรมปศุสัตว์ยอมรับวานนี้ (11 ม.ค.) ว่า ตรวจพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) จากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม และหากโรคระบาดลุกลามออกไปจนไม่สามารถควบคุมได้ จะส่งผลให้เกิดความเสียหายในอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องในวงการปศุสัตว์ที่ว่า ประเทศไทย “ปกปิด” การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ASF มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งปี

“ประชาชาติธุรกิจ” แกะรอยโรค ASF ตั้งแต่พบการระบาดในจีน-อาเซียน เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ถึง 11 มกราคม 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่กรมปศุสัตว์ ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าตรวจพบเชื้อ ASF

สิงหาคม 2561

มีรายงานพบการติดเชื้อ ASF ครั้งแรกในจีน เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ไวรัสดังกล่าวได้แพร่กระจายไปทุกมณฑลของจีน ภายในช่วงกลางปี 2562

การระบาดของ ASF ครั้งนั้น ทำให้เกิดการสูญเสียสุกรประมาณ 50% ในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลก เขย่าตลาดเนื้อหมูมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญทั่วโลก และสร้างความสูญเสียในอุตสาหกรรมมากถึง 1.3 แสนล้านเหรียญ

แต่ภายในเวลา 1 ปี จีนก็สามารถรับมือกับการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ และกลับมาขยายพันธุ์สุกรโดยเน้นที่ความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น

เมษายน 2562

วันที่ 9 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรของประเทศไทยเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยมีการเคาะงบฯ ในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 53,604,900 บาท

มีนาคม 2563

วันที่ 24 มีนาคม 2563 ครม.มีมติอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร จำนวน 523,244,500 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กุมภาพันธ์ 2564

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.อนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร จำนวนเงิน 279,782,374 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

มีนาคม 2564

วันที่ 10 มีนาคม 2564 มีการเผยแพร่รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่เตือนว่าโรค ASF กำลังระบาดในหลายประเทศของเอเชีย ขณะที่ น.สพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ยืนยันว่าไทยยังไม่มีการระบาดของ ASF และมีการรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) อย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์และมาตรการเฝ้าระวัง

มิถุนายน 2564

  • มีรายงานในหลายจังหวัดพบหมูตายจากอาการคล้ายโรค ASF โดยเริ่มระบาดที่จังหวัดสระแก้ว ก่อนลุกลามไปยังฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หนักสุดคือที่ฟาร์มหมูในราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของไทย ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงหมูต้องทิ้งหมูจำนานมาก ขาดรายได้สาหัส
  • นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีสมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าหารือ พร้อมแจ้งว่า ตอนนี้ได้เกิดการแพร่ระบาดของ ASF ในประเทศไทยไปทั่วทุกภาคแล้ว

กรกฎาคม 2564

  • พบหมูติด ASF 1 ราย ที่จังหวัดตาก เป็นหมูที่ส่งมาจากเขต 5 จากการรายงานของกรมปศุสัตว์
  • กรมปศุสัตว์ของบฯกลาง 140 ล้านบาท ป้องกัน ASF อีก
  • อธิบดีกรมปศุสัตว์ปฏิเสธไม่มีโรค ASF ในไทย
  • แต่มีการประชุมคณะทำงานสอบถามว่า ควรจะเปิดเผยโรค ASF ดีหรือไม่

ธันวาคม 2564

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ภาคีคณบดีสัตวแพทย์ยืนยันพบ ASF ในซากหมูส่งตรวจ

มกราคม 2565

วันที่ 7 มกราคม 2565 กุนเชียงไทย ส่งไปไต้หวัน พบ ASF ปนเปื้อน

วันที่ 11 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ยืนยันพบ ASF ที่โรงฆ่า จังหวัดนครปฐม