วันชัย พนมชัย ปั้น 65,000 โรงงานสีเขียว

วันชัย พนมชัย
สัมภาษณ์พิเศษ

การประกอบกิจการโรงงานในประเทศไทย ในช่วงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันรุนแรง และทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมคู่ขนานกับการประกอบธุรกิจ นำมาสู่การยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ทำให้หน่วยงานรัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทการทำงาน ทั้งกำกับดูแลและส่งเสริมโรงงานสู่การพัฒนาเป็นโรงงานสีเขียวให้มากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายวันชัย พนมชัย” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมถึงทิศทางการดำเนินงาน

พ.ร.บ.โรงงาน 2562

พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุด ได้บังคับใช้ไปเมื่อ 27 ตุลาคม 2562 ได้แก้ไขใน 2-3 ประเด็นเพื่อทำให้การประกอบกิจการโรงงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่ได้รับความสะดวกและคล่องตัวขึ้น และการกำกับดูแลก็ยังเข้มข้นไม่ได้ลดลง

เช่น คำนิยามคำว่า “โรงงาน” จากเดิมขอบเขตของโรงงานนั้น คือมีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน แต่ฉบับใหม่นี้ปรับเป็นเครื่องจักร 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน ส่งผลให้จำนวนโรงงานจากเดิมมีอยู่ 160,000 โรงงาน ลดลงเหลือ 65,000 โรงงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกระทรวง

ส่วนการขอประกอบกิจการโรงงานตามระเบียบใหม่ เช่น แรงงาน 75 คนขึ้นไปต้องแจ้งประกอบกิจการโรงงานแต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน และ 75 คนขึ้นไปต้องแจ้งและขึ้นทะเบียนโรงงาน

“ส่วนโรงงานกว่า 100,000 โรงงานที่เคยอยู่ในระบบและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานฯ ตาม พ.ร.บ.โรงงานใหม่จะมีหน่วยงานส่วนท้องถิ่น อบต. เทศบาล มีกฎหมายสามารถกำกับดูแลได้และทั่วถึงอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการเมื่อต้องการประกอบกิจการ สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่นได้ มั่นใจว่าไม่มีปัญหา”

แนวทางกำกับติดตามโรงงาน

การปรับปรุงเรื่องของการขอและต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานขนาดเอสเอ็มอีที่มีเครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ขณะที่ผู้ประกอบการทั่วไปก็ไม่ต้องต่ออายุใบ รง.4 อีกต่อไป จากเดิมที่มีผู้ประกอบการต้องต่ออายุใบ รง.4 ทุก ๆ 5 ปี

เดิมหากต่ออายุจะมีการตรวจสอบข้อมูลเงื่อนไขของโรงงานว่ามีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงอย่างไร เป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ พิจารณาแล้วถึงจะต่ออายุให้ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.โรงงานใหม่ปรับให้ไม่ต้องต่ออายุ โดยกำหนดให้มีผู้ตรวจสอบจากเอกชนซึ่งจะเป็นนิติบุคคล บุคคลธรรมดาก็ได้ ที่ได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนด เป็นตัวแทนเข้าไปตรวจสอบโรงงานแทนหน่วยงานรัฐ

2 ปียังไม่มีผู้ตรวจสอบ

ปัจจุบันตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ยังไม่มีผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบโรงงาน เนื่องจากยังมีเรื่องของขั้นตอนของกฎหมายโดยจะต้องออกเป็นประกาศกระทรวง ซึ่งขณะนี้ถึงขั้นกฤษฎีกาแล้ว อยู่ระหว่างออกประกาศบังคับใช้ ประมาณ 8-9 ฉบับ

และหากประกาศออกมาแล้วทางกรมโรงงานฯก็จะเดินหน้าออกวิธีการปฏิบัติของการได้มาสำหรับผู้ตรวจสอบ วิธีการ ขั้นตอน ค่าบริการ คุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางจะต้องตรวจสอบอะไรบ้าง โดยเป้าหมายคาดว่าต้นปี 2565 หรือในช่วงเดือนมีนาคมนี้น่าจะชัดเจนสามารถปฏิบัติงานได้จริง

“ช่วงที่ยังไม่ได้ตรวจสอบ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ให้นโยบายว่า ระหว่างที่เป็นช่วงรอยต่อนี้ มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดให้ไปติดตามดูแลสอบถามข้อมูลรายงานเบื้องต้นจากโรงงาน โดยเน้นเฉพาะโรงงานเป้าหมายสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบ ถึงแม้ไม่ถึงขั้นตรวจสอบแต่ยังติดตามดูแลไม่ให้มีปัญหาได้”

คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ตรวจสอบจะต้องได้รับใบอนุญาตตรวจสอบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อน ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีในงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สารเคมี ไฟฟ้า พลังงาน เครื่องกล โยธา หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมด้านใดด้านหนึ่ง เป็นต้น

เพิ่มโทษกับโรงงานทิ้งกาก

นอกจากนี้ พ.ร.บ.โรงงานฉบับปี 2562 นี้ แม้จะประกาศและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว กรมยังต้องการให้มีการปรับเรื่องโทษสำหรับผู้ที่ทิ้งกาก ขยะ ปล่อยน้ำเสียด้วย ซึ่งปัจจุบันหากพบผู้กระทำผิดกฎหมายฉบับนี้ มีโทษเพียงการปรับเท่านั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ากระทำผิดจริง

แต่เห็นว่าน่าจะเพิ่มโทษเข้าไปอีก เพราะหากดูความเสียหาย มูลค่าความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีมาก ทั้งสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่อยู่รอบข้าง จึงเห็นควรว่าน่าจะเพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเสนอตามขั้นตอนของกฎหมาย หากไม่มีปัญหาคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในปลายปี 2565

เช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับผู้ที่ให้เลิกกิจการโรงงานในการกระทำผิด ซึ่งจากเดิมนั้นกรมโรงงานฯได้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประกอบการได้ถูกให้เลิกกิจการไปแล้ว แต่ความเสียหายหรือปัญหาที่เกิดขึ้นโรงงานไม่ได้รับผิดชอบ แก้ไข

ซึ่งกฎหมายเดิมนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเรียกร้องหรือเข้ามาสอบถามความรับผิดชอบได้ เนื่องจากเลิกกิจการไปแล้วไม่ได้อยู่ภายในการกำกับดูแล ทำให้เป็นช่องโหว่ของปัญหา กรมก็อยู่ระหว่างแก้ไขเรื่องนี้เพื่อให้ผู้ที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบสิ่งที่ได้กระทำไปด้วย

แปลงขยะผลิตไฟฟ้าสร้างมูลค่า

จากปัญหาการทิ้งกาก ขยะ การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเฉลี่ยต่อปีประมาณ 18 ล้านตัน ทุกปีจะมีการแจ้งขออนุญาตกำจัดขยะเข้าระบบประมาณ 6 ล้านตัน ส่วนอีก 12 ล้านตันไม่ได้อยู่ในระบบก็มีความสงสัยว่าหายไปไหน ซึ่งจากการติดตามขยะเหล่านี้ไม่ใช่ขยะอันตราย

ทำให้ขยะมีการหมุนเวียนซื้อ-ขาย ฝังกลบ ส่งผลให้ข้อมูลขยะกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บข้อมูลว่าไปดำเนินการซื้อ-ขาย ฝังกลบที่ไหนอย่างไรบ้าง แต่จากนี้กรมมีแนวคิดจะจัดเก็บข้อมูลนี้เพื่อรับรู้ข้อมูลและนำไปเป็นแนวทางแนะนำว่าขยะบางรายการสามารถนำไปเข้าระบบโรงไฟฟ้าชีวมวลได้

“กรมอยู่ระหว่างการประสานไปยังกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเรื่องการอนุญาตนำขยะอุตสาหกรรมมาผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้ว ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเนื่องจากขยะบางชนิดสามารถนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้”

ดัน 65,000 โรงงานสีเขียว

อีกด้านหนึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง BCG economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (biocircular-green economy) คือการไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ประเทศไทยประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

เพื่อไปตามเป้าหมายนี้กรมได้ส่งเสริมผลักดันให้โรงงานเข้าร่วมการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อไปสู่การเป็นโรงงานสีเขียว โดยปี 2565 มีเป้าหมายให้โรงงานเป็นโรงงานสีเขียว 60% จากโรงงาน 65,000 โรงงานให้ได้

“กรมสร้างแรงงานจูงใจให้กับโรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ส่วนรายใหญ่ดำเนินการไปบ้างแล้วเนื่องจากการแข่งขันผลักดันให้เป็นโรงงานสีเขียว อย่างไรก็ดี จากนี้กรมจะต้องผลักดันให้มีโรงงานมาเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น เพื่อให้แข่งขันได้ และเป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่จะลดการปล่อยก๊าซ”