สัมภาษณ์
“ความมั่นคงทางอาหาร” กำลังเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของโลก หลังจากที่เผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต จากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก ต้องกลับมาทบทวนแผนภาคเกษตรอีกครั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายทองเปลว กองจันทร์” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางแก้ปัญหา next normal แนวทางปฏิรูปภาคเกษตรอนาคต
ลดต้นทุนทำเกษตรลดพึ่งพานำเข้า
จุดแข็งของเกษตรไทยคือ วัตถุดิบ โลจิสติกส์ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โควิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทำให้ผมมองจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของภาคเกษตร หน้าที่ของผมคือจะทำอย่างไรให้ไทยซึ่งเป็นครัวของโลก ยังมีความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรมีรายได้ กระจายอยู่ในทุกจังหวัด
ปัญหาที่ผ่านมา เราต้องพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตมากจนเกินไป ทุกคนทราบดีว่า ปุ๋ย เป็นสิ่งที่เกษตรกรเผชิญอย่างหนัก เพราะเป็นต้นทางห่วงโซ่ราคาสินค้า เรามานั่งทบทวนเรื่องปุ๋ยพบว่า มีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี มูลค่าถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี จากรัสเซีย อินเดีย จีน แคนาดา เบลารุส โดยเฉพาะแม่ปุ๋ยไนโตรเจนนำเข้าสัดส่วน 36% ฟอสฟอรัส 10% ที่เหลือเป็นโพแทสเซียม ส่วนที่เหลือเป็นปุ๋ยสูตรก็ยังนำเข้ามา
ดังนั้นพอเจอวิกฤตสงคราม ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมาพร้อมกับฤดูกาลผลิตพอดี เราก็ร่วมกับพาณิชย์ไปดูว่า ณ วันนี้สต๊อกมีเหลือเท่าไหร่ กรมการค้าภายในไปสำรวจสต๊อก โดยเฉพาะส่วนตัว N ปุ๋ยยูเรีย พฤษภาคมก็จะเริ่มปลูกข้าว แล้วสั่งล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าสั่งวันนี้แล้วได้มะรืน ยิ่งพอเกิดสงครามยิ่งยาก
กรมการค้าภายในไปหารือพ่อค้า เร่งหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ดูราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น ขอให้ช่วยตกลงเรื่องราคาขาย การปรับขึ้นราคาปุ๋ยต้องไม่เป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนซ้ำเติมเกษตรกร
“บทบาทของกระทรวงเกษตรฯ เรามองถึงการหันกลับมาพึ่งพาตนเอง หากปุ๋ยเคมีขาด จะสามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศทดแทนได้หรือไม่ จึงมีแนวคิดหาปุ๋ยทดแทนในประเทศคือ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ โดยร่วมมือกับศูนย์ดินชุมชน 882 อำเภอทั่วประเทศ ในการเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยแบบ 4 ถูก คือ 1.ถูกสูตร 2.ถูกวิธี 3.ถูกพื้นที่ และ 4.ถูกเวลา หรือเดิมเรียกการใช้ปุ๋ยในลักษณะนี้ว่า ปุ๋ยสั่งตัด เราก็จะดึงกลับมาใช้”
ของบประมาณจัดหาปุ๋ย
กรณีที่เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีจริง อาจแนะนำให้ผสมผสานกับปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และอาจต้องมีปุ๋ยเคมีราคาพิเศษ เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็น ซึ่งได้สั่งการไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ตรวจสอบความต้องการ และเสนอโครงการเข้ามา เพื่อเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขอความเห็นจากสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณให้ทันฤดูกาลเพาะปลูก
จากฐานข้อมูล หากจะให้รัฐบาลช่วยทั้งหมดคงไม่ไหว อาจช่วยตามความจำเป็น อาทิ ช่วงเริ่มแรกอาจช่วยส่วนของสารเคมีเร่งต้น ประมาณ 36% ของ 5 ล้านตัน คิดเป็น 1-2 ล้านตันเท่านั้น วิธีการคิดเช่นนี้ยังไม่ใช่สูตรสำเร็จ ต้องทำความเข้าใจว่า ตัว P K ใช้อินทรีย์ทดแทนได้ ผลพลอยได้ยิ่งดีไปอีกในเรื่องเกษตรอินทรีย์
ส่วนเรื่องการนำเข้าก็ยังเป็นพ่อค้าคนกลางอยู่ดี แต่หลังจากนี้อาจจะใช้วิธีให้กรมส่งเสริมสหกรณ์รับช่วงต่อ ในการแจกจ่ายปุ๋ยเคมีไปยังสหกรณ์ทุกภูมิภาค ผ่านเงื่อนไขที่ต้องขายในราคาที่ไม่ทำให้เกษตรกรต้องเดือดร้อน และกำชับว่าต้องทันใช้ในช่วงฤดูเพาะปลูก ภายในเดือนพฤษภาคม
อาหารสัตว์ขาดแคลน
ส่วนการแก้ไขปัญหาอาหารสัตว์ขาดแคลน จากที่ได้ประชุมหารือกับทุกฝ่าย แม้จะมีเสียงคัดค้านการชะลอมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ อัตราส่วน 1 ต่อ 3 ของกระทรวงพาณิชย์ ชั่วคราวเพื่อทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ถูกลง กระทรวงเกษตรฯยืนยันว่าจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันในมตินี้ เพื่อบรรเทาวิกฤตให้นำเข้าข้าวสาลีจำนวนเท่าที่จำเป็น และหากยังมีความเห็นต่างอีกก็ต้องหารือกัน
“วิธีที่ผมมองคือ ส่วนของเกษตรกร ต้องปรับตัวหาวัตถุดิบทดแทนในประเทศเสริมเข้าไป ตรงนี้กรมปศุสัตว์ก็รับหน้าที่ไปแล้ว เช่น การรับมือผลไม้ตะวันออก ทั้งการส่งออกและแผนเราพร้อมกระจายสินค้า เคลียร์เส้นทาง ประสานทูตเกษตรจีน และทั่วโลก ประสานภาคเอกชนเต็มที่ ปีนี้ก็ถือว่าท้าทายเลยทีเดียว”
Next Normal ภาคเกษตร
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์การระบาดโควิด-19 และภาวะสงคราม ในช่วงปี 2562-2564 พบว่า ในปี 2564 ไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม 149.25 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 34.88 ล้านไร่ เกษตรกร 8,037,722 ครัวเรือน เป็น smart farmer 506,078 ราย เป็น young smart farmer 18,215 ราย มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สูงถึง 1,498,394 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร 1.3 ล้านล้านบาท
ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ตอบโจทย์ได้ว่า กระทรวงเกษตรฯได้มีการขับเคลื่อนภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะผลักดันให้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต
จนปัจจุบันในปีนี้ตั้งเป้าว่า จีดีพีภาคเกษตรจะเติบโตถึง 1.5 ล้านล้านบาท ในยุคที่ต้องเผชิญโรคระบาดกับสภาวะสงคราม แต่กลับเป็นจุดเปลี่ยนแนวคิดบทบาทของผมที่จะต้องขับเคลื่อนภาคเกษตรอย่างยั่งยืน วางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ new normal ปัจจุบันและในอนาคตไปสู่ยุค next normal ก้าวต่อไปที่ต้องรักตัวเอง รักสิ่งแวดล้อม สินค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐานส่งออก
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบริบทใหม่ของโลก ยังคงต้องมุ่งเน้นเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรในเวทีโลก โดยจะผลักดันให้ไทยเป็น 1 ใน 7 ประเทศสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงของโลก ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model
“เราต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม ร่วมมือกันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอาหารทางการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งการพูดนั้นมันง่ายกว่าการลงมือ เราจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง เราจะขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ Agri Challenge Model โดยท่านรัฐมนตรี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ให้เกิดเป็นรูปธรรม”
Agri Challenge Model
Agri Challenge Model นี้ คือ การบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร เกษตรกรต้องมีตลาดใหม่ ๆ
เปิดรับแนวคิดเกษตรสมัยใหม่
อนาคตการแข่งขันทางการค้าจะเข้มข้นมากขึ้น เมื่อทั่วโลกต่างหันมามองความมั่นคงทางอาหาร เราจึงควรยกระดับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นไปสู่การแปรรูป ยอมรับเลยว่าการแปรรูปเป็นจุดอ่อนภาคเกษตร ทำไมเราเห็นข่าวเอามะม่วงไปทิ้ง ไม่เอาไปกวน แปรรูป เราจะปรับจากเดิม ถนอมรักษาคุณภาพได้อย่างไร เพราะถ้าทำแบบเดิมไม่มีทางโต หรือจะพัฒนาเป็นพืชพลังงาน พลังงานทดแทน วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรป้อนโรงไฟฟ้า รวมไปถึงยกระดับพืชสมุนไพร เวชภัณฑ์ ที่มีมูลค่าส่งออก 4-5 หมื่นล้านบาท เติบโตได้อีกถึง 10 เท่า ในช่วงปีที่ผ่านมา
“ที่สำคัญ คนเกษตรพร้อมไหม บุคลากรพร้อมหรือยัง ยุคเปลี่ยนผ่านต้องมองโลก และสร้าง ผมกำลังทำแอ็กชั่นแพลน แผนใหม่ พลิกโฉมแผนพัฒนาเกษตรระดับจังหวัด ใช้ชลประทาน ใช้น้ำนำ ทุกจังหวัดต้องทำ ให้เขาสำรวจตามอะกริแมป สร้างเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ ใส่สตอรี่ ถ้าทำเป็นแมส พืชการตลาด พืชดาวรุ่งจะเพิ่มมูลค่าได้เท่าไหร่ ผมคิดไว้ 2 อย่าง 1 ปลูกพืชดาวรุ่งที่ตลาดต้องการ กับ 2 ปลูกพืชดาวรุ่งแล้วสร้างตลาดเอง มองหาไอเดีย soft power พืชที่นำมาปรุงอาหารของไทย
สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมทางอาหาร สามารถนำเสนอผ่านสื่อที่หลากหลายช่องทาง ให้ทั่วโลกรู้จักสมุนไพรไทย ขิง ข่า ตะไคร้ เมนูต้มยำกุ้ง เมนูอื่น ๆ หรือผลไม้ของไทย ทุเรียนต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งน้ำปลาร้า ก็สามารถโปรโมตผ่านซีรีส์ influencer ได้ สามารถสร้างมูลค่าได้อีกทาง”