สงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาปุ๋ยแพงลากยาว 5 ปี

ปุ๋ย

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ผู้ค้าปุ๋ยห่วงราคาพุ่ง เลวร้ายสุดอาจลากยาว 3-5 ปี หวั่นเกษตรกรไทยถึงจุดที่ไม่คุ้มทุนกับการผลิต นักวิชาการชี้ควรใช้วิกฤตพลิกเป็นโอกาสพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า เผยบางพื้นที่เกษตรกรเริ่มหาปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน เห็นสัญญาณออร์เดอร์ปุ๋ยอินทรีย์จนไม่พอขาย

วันที่ 7 เมษายน 2565 นายเทพวิทย์ เตียวสุรัตน์กุล สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวเสวนา หัวข้อ “ผลจากสงคราม ภาวะวิกฤตปุ๋ยแพงกับแสงที่ปลายอุโมงค์ : ทางเลือกทางรอดของเกษตรกรและผู้ค้าของไทย” จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ว่าสถานการณ์ราคาปุ๋ยแพง เริ่มต้นจากปลายปีที่แล้วก่อนเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

โดยเริ่มจากประเทศจีน จำกัดปริมาณการส่งออกปุ๋ยตั้งแต่ตุลาคม 2564 ผ่านการใช้มาตรการทางศุลกากร โดยการท่าเรือของมณฑลเหอเป่ย์ เทียนจิน ชิงเต่า แจ้งหยุดการขนส่งปุ๋ยเคมีไปยังทั่วโลก ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเริ่มขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนในยุโรปเองก็ปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤตสงคราม รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของแอมโมเนีย และก๊าซธรรมชาติ LNG ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีในยุโรปเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องหยุดผลิตจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูง อีกทั้งการส่งออกปุ๋ยเคมีจากรัสเซียจะได้รับผลกระทบจากการขนส่ง สกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขายหรือแม้กระทั่งค่าประกันภัยทางเรือที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งค่าขนส่งทางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทั้ง Bulk Carrier และ Bulk Container

ดังนั้น เมื่อประกอบกับช่วงไตรมาสที่ 3 ปีที่ผ่านมา จากการที่รัสเซียประเทศจีน ประกาศมุ่งเน้นนโยบายเรื่องความมั่นคงทางอาหารจึงลดการส่งออกปุ๋ย เพื่อรักษาสมดุลในประเทศ จนกระทั่งเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มกระทบรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด อีกทั้งรัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารยิ่งเพิ่มอำนาจทางการค้าโลก ราคาปุ๋ยยิ่งเพิ่มสูงและขาดแคลน

ขณะเดียวกันราคาปุ๋ยโพแทชปรับตัวสูงขึ้นหลังจากประเทศเบรารุส ผู้ผลิตรายใหญ่ถูกคว่ำบาตร จากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2020 ทำให้ราคาโพแทช (MOP) ปรับตัวขึ้นสูงขึ้นมากกว่า 200 เหรียญสหรัฐ/ต่อตัน ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ขณะที่รัสเซียถูกแซงก์ชั่นจากหลายประเทศ ทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีแพงขึ้นอีก

ทั้งนี้ สมาคมประเมินความยาวนานของวิกฤต กรณีที่ร้ายแรงที่สุด (Worst-case scenario) มาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อประเทศรัสเซียอาจยาวนานถึง 3-5 ปี ส่งผลให้ผู้ซื้อที่จำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียและเบลารุส ดำเนินการนำเข้าได้ยากลำบากยิ่งขึ้น อีกทั้งราคาก๊าซธรรมชาติจะยังคงมีระดับราคาที่สูงอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการคว่ำบาตรที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้อุปทานในตลาดจะยังคงจำกัด โดยเฉพาะในยุโรป และอาจมีการขยายระยะเวลาจำกัดการส่งออกปุ๋ยของจีน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่ออุปทานปุ๋ยยูเรีย และฟอสเฟตในตลาดโลก

ปุ๋ย

อีกทั้งเมื่อการส่งออกปุ๋ยเคมีจากจีน รัสเซียยังคงจำกัด และมีความยากลำบากในการซื้อขาย อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะฟอสเฟต (P) และโพแทช (K) ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ พร้อมทั้งราคาซื้อขายในตลาดโลกจะยังมีราคาที่สูงมากเป็นระยะเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์

“กรณีที่เลวร้ายที่สุดหากรัสเซียยังถูกมาตรการคว่ำบาตรนาน 3-5 ปี จะส่งผลให้ผู้นำเข้าปุ๋ย จากรัสเซียและเบลารุส นำเข้าได้ยากขึ้น รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติก็ยังคงมีราคาสูงต่อเนื่อง หมายความว่าเกษตรกรไทยก็ยังคงต้องแบกรับต้นทุนราคาปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงไปอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งมองกรณีเลวร้ายสุด อาจถึงจุดที่ไม่คุ้มทุนกับการผลิต แต่ถ้าจะพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือ เดือนเมษายนนี้ เป็นเดือนที่มีการใช้ปุ๋ยซีกโลกเหนือ หลังจากนั้นจะใช้ลดลง การใช้ปุ๋ยจะเริ่มผ่านไปแล้ว หวังว่าได้ลดลงมาบ้าง ไม่อย่างนั้นน่าเป็นห่วงว่าจะเข้าสู่จุดที่ไม่คุ้มทุนกับการผลิต”

ด้าน ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บทเรียนในอดีตไทยเองก็พยายามสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี แต่ต้องปิดกิจการลง เพราะไม่คุ้มค่า ทรัพยากรไม่เพียงพอและเเข่งขันตลาดโลกลำบาก ปัจจุบันจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ได้รับข้อมูลมาว่า ปุ๋ยอินทรีย์บางพื้นที่เริ่มรับออร์เดอร์ไม่ไหว ไม่พอขาย เพื่อนำไปใช้ทดแทนในข่วงราคาสูง

อย่างไรก็ดี 3 แนวทางในการรับมือกับปุ๋ยแพงที่เกษตรไทยต้องปรับ คือ 1.เริ่มจากระยะแรก 1 ปี เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ปรับดินก่อนการใส่ปุ๋ย แบ่งใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี และใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินในการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ใช้ปุ๋ยน้อยที่สุด

ส่วนระยะที่ 2 ระยะกลาง 1-5 ปี จะมีการพัฒนาระบบประเมินความสมบูรณ์ของดิน และพัฒนาอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยโพแทช ที่ไทยมีศักยภาพผลิตได้ ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ส่วนระยะยาว มากกว่า 10 ปี ควรเพิ่มการวิจัยและพัฒนาผลิตแม่ปุ๋ยให้มีต้นทุนต่ำลง และผลิตปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน

ขณะที่นางปนัดดา ทิพยะรัตน์ นักวิชาการพิเศษ กองส่งเสริมการอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร มองว่า องค์ความรู้สำคัญอย่างมากในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก โดยที่อาจจะไม่ใช้ปุ๋ยจำนวนเดิม โดยดูปริมาณดิน ธาตุอาหารให้เเม่นยำก่อน ผลิตปุ๋ยทดแทน ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยชีวภาพ ในปริมาณ 5.4 ล้านตัน เพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีบางส่วน

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จํานวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน 2.โครงการรณรงค์การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ 3.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน

อย่างไรก็ดี นางสาวจรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขผลกระทบจากราคาปุ๋ยแพง กับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ สำคัญมาก ตอนนี้มาถึงทางแยก หากจะใช้ปุ๋ยเคมีต่อไปจะต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรผสมผสาน ควรมองปุ๋ยหมักเติมอากาศ ปุ๋ยชีวภาพ

ปัจจุบันกรมร่วมกับหน่วยงานทำชุดตรวจสอบดิน 5 หน่วยงาน วิเคราะห์ดินทุกชนิด นำไปให้เกษตรกรทดสอบการใช้งาน สามารถทดแทนได้ แต่โดยรวมพบว่าการรวมกลุ่มร่วมกันได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะกำลังนักวิชาการไม่สามารถกระจายตามแปลงต่าง ๆ ได้ อำนาจการต่อรอง ปัจจัยผลิต ตั้งราคาขายยังได้ วิกฤตครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสเกษตรอินทรีย์ ตั้งราคาขายได้เลย