“ศุภวุฒิ” เตือนไทยรับมือ “เงินเฟ้อยืดเยื้อ” ราคาปุ๋ยแพงกว่าน้ำมัน

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ 3 ปัจจัยท้าทาย “เงินเฟ้อยืดเยื้อ-ราคาพลังงานพุ่ง-สังคมสูงวัย” จับตาราคาปุ๋ยสูงกว่าราคาน้ำมัน กระทบผลผลิตปลายปี ดันเงินเฟ้อเพิ่ม เชื่อสหรัฐฯ-ไทยเลี้ยงเงินเฟ้อ ไม่กล้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เหตุกลัวทำเศรษฐกิจตกต่ำ หลังรัฐกู้เงินมหาศาล แนะไทยเร่งวางยุทธศาสตร์รับมือพลังงานเพิ่ม ผันตัวจากเศรษฐกิจการผลิตอุตสาหกรรมสู่ภาคการบริการ

วันที่ 2 เมษายน 2565 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงาน “THIS IS The END of the LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทยสร้างใหม่อย่างไรดี” ในหัวข้อ “BRACING FOR THE FUTURE II: GEOPOLITICS & OUR POLITICS” ว่า ปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจโลกและไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ 1.พลังงานแพง ซึ่งก่อนจะมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนราคาพลังงานปรับสูงขึ้นอยู่แล้วจาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยภายหลังจากรัสเซียบุกยูเครน จะเห็นว่ากลุ่มประเทศยุโรปประกาศแผน “Repower EU” เป็นการแย่งซื้อพลังงานกับเรา ประกอบกับมีปัจจัยการลงทุนน้อย (Under Investment) อยู่แล้ว เนื่องจากในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Cop26) ได้บอกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเผาพลังงานจนเกิดคาร์บอนฯ จะต้องลดทอนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 8 ปีข้างหน้า ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่กล้าลงทุน เพราะในงานวิจัยได้บอกว่าหากจะปรับเปลี่ยนจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนราว 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นจีดีพีโลกประมาณ 1 ปี ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าลงทุน ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น

Advertisement

2.ปัญหาอุปทานชะงักงัน (Supply disruption) ภายหลังจากประเทศสหรัฐฯ และจีนทะเลาะกันไม่เฉพาะแค่ด้านการค้า แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจ ทำให้เลิกพึ่งพาซัพพลายเชนของโลก (Global Supplychain) และพยายามแบ่งแยกซัพพลายออกจากกัน โดยที่จีนเหมือนเข้าข้างรัสเซีย จะทำให้เกิดปัญหา Supply Disruption แน่นอน ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาว และทำให้ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน

และ 3.ประชากรของโลกกำลังเริ่มแก่ตัวถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้วิจัยและประมาณการว่าในปี 2564 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเจอปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 5-7% เนื่องจากหากย้อนไปดูในค.ศ. 1990-2018 พบว่าแรงงานในโลกทุนนิยมปรับเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ซึ่งจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานทั่วโลก (Global Label Shortage) ส่งผลให้แรงงานขอขึ้นค่าแรง ในขณะที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

“สิ่งท้าทายของไทย คือ เราอยากได้จีดีพีโต และความเหลื่อมล้ำลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่เราต้องถามตัวเองก่อน คือ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเปิดการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัพพลายเชน ประโยชน์ที่พึงได้รับคืออะไร ซึ่งมีอยู่ 5 ประเด็นหลัก คือ เราจะหาพลังงานใช้เพียงพอได้ยากขึ้น และเรากำลังเข้าสู่ Aging เราจะต้องปรับตัวจากผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเป็นด้านบริการสุขภาพ และเราจะเลือกระหว่างจีนที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นทุนนิยมรัฐบาลมีการกะเกณฑ์และชี้นำ หรือจะเป็นแบบสหรัฐฯ เราจะต้องดูใคร”

Advertisement

ทั้งนี้ หากดูภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวในส่วนของเศรษฐกิจประเทศไทยจะต้องเจอในระยะข้างหน้ามีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1.เงินเฟ้อยืดเยื้ออย่างมาก โดยในสหรัฐฯ ไม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือรัฐบาลกลางไม่กล้าปราบเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมาก เพราะจะทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และยิ่งจะเกิดวิกฤตหากมีการขึ้นดอกเบี้ยมากไป ซึ่งจากก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปแล้ว 0.25-0.50% เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้กู้เงินจำนวนมหาศาลในการทำมาตรการต่างๆ หากขึ้นดอกเบี้ยและเศรษฐกิจตกต่ำจะไม่มีเครื่องมือให้ใช้แล้ว

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐมีการกู้เงินจำนวนมากในก่อนหน้านี้ จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เหมือนสหรัฐฯ ที่ลึกๆ ไม่กล้าปราบเงินเฟ้อ แต่จะเลี้ยงเงินเฟ้อไว้ ดังนั้น ไทยจะเจอเงินเฟ้อที่สูง แต่หลายคนให้ไปดูที่ราคาน้ำมัน แต่หากจะดูเงินเฟ้อกว่าที่คาดคิดไว้ให้ดูได้จากราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งค่อนข้างน่ากลัวว่าราคาปุ๋ยจะสูงกว่าราคาน้ำมัน โดยจะทำให้ชาวนาลดการใช้ปุ๋ยลงราว 30% เพราะไม่กล้าเพาะปลูกจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น ทำให้ผลผลิตจะยิ่งตกต่ำโดยในฤดูกาลปลายปี และจะส่งต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากราคาอาหาร โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงได้ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออก ประกอบกับใกล้เลือกตั้งซึ่งทุกพรรคการเมืองจะมีเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงเข้ามาอีกด้วย

ขณะที่ 2.พลังงาน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานและก๊าซธรรมชาติ LNG ที่จะแพงขึ้น โดยมีงานวิจัยพบว่าโลกจะมีการพึ่งพาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 36.4% มาเป็น 45% ภายใน 20-30 ปี ซึ่งไทยยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานเลย ซึ่งหากดูวิธีแก้ราคาพลังงานแพง คือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือการเข้าใช้พลังงานในพื้นที่ชายแดนทับซ้อนกับกัมพูชากับสหรัฐฯ หรือไม่

Advertisement

และท้ายสุด 3.สังคมสูงวัย (Aging Society) ในอดีตเราจะเป็น “ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ซึ่งไทยจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แต่ต้องถามว่าไทยเข้าสู่ภาวะ Aging Society เจอปัญหาขาดแคลนทางด้านแรงงานและเจอปัญหาพลังงาน โดยเราจะเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufactured Economy) หรือจะผันตัวเป็น Service Sector โดยภาคเกษตรใช้ออแกนิคแทนเกษตรแบบเก่า หรือจะแปลงประเทศเป็น Good Food, Good Health, Wellness Hub หรือจะสร้างเซมิคอนดักต์เตอร์ในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน แต่จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ต่อโรง

“จากปัญหาทั้งหมดภายใต้ปัจจัยที่เราต้องเผชิญตามที่กล่าวมา รัฐบาลข้างหน้าจะต้องตอบโจทย์ทางด้านพลังงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ ผมไม่ได้สนใจเรื่องอีวี แม้ว่าจะพูดเป็นคนแรกๆ เพราะมองว่าไม่ได้มี Trickle-Down Effect เพราะไม่มีเรื่องของการซัพพอร์ตอินดัสเทรียล ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย จะต้องระดมความคิดว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปได้อย่างไรในภายใต้ปัจจัยที่กล่าวมา”