ดร.ศุภวุฒิ เตือนรับมือสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง สกัดเงินเฟ้อขาขึ้น

ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

“ดร.ศุภวุฒิ” ชี้เงินเฟ้อพุ่งปัญหาใหญ่กระทบเศรษฐกิจปีหน้า เตือนรับมือสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง ชี้หากประเมินสถานการณ์ผิดผลกระทบส่อรุนแรง ห่วงหนี้รัฐบาลสูงทำนโยบายการคลังมีข้อจำกัดฟื้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ขณะที่หนี้ครัวเรือนสูงน่ากังวล แนะ Unlock หนี้เอสเอ็มอีเร่งปรับโครงสร้าง

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บรรยายพิเศษ “Thailand 2022 เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” ในงานสัมมนา Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ไทยกำลังเปิดประเทศในขณะที่การติดเชื้อโควิด-19 รอบโลกกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งองค์การอนามัยโลกเตือนว่า หากไม่ทำอะไร จะมีคนเสียชีวิตจำนวนมากถึงวันละ 5 แสนคน

ส่วนประเทศไทยแม้ยอดเสียชีวิตจากโควิดจะลดลงเหลือวันละ 50 คน แต่หากเทียบกับอัตราการเสียชีวิตตามถนนที่ปีนี้เฉลี่ย 18 คนต่อวัน ถือว่ายังสูงกว่าค่อนข้างมาก ดังนั้น จะ Unlock อย่างไรให้ผู้เสียชีวิตน้อยกว่านี้

“ประเด็นคือ เรากำลังเปิดประเทศ หวังรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่นักท่องเที่ยวจากอเมริกา ยุโรป จะมาไหม แล้วเขากำลังระบาดหนัก เราจะอยากรับเขาเข้ามาไหม หรือจีนที่เราอยากให้มา เขาก็ปิดประเทศ ตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ดังนั้น การเปิดประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยรอนักท่องเที่ยวมา คงไม่ได้มาก คงต้องพึ่งคนไทยมากกว่า”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ในภาพเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ จะเป็นเรื่องใหญ่ในปีหน้า โดยผลกระทบจากโควิดในระยะข้างหน้า จะกระทบฝั่งอุปทาน หรือภาคการผลิต มากกว่าฝั่งอุปสงค์ เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนที่เคยเป็นผู้ผลิตสินค้าราคาถูกป้อนตลาดโลก แต่ปัจจุบันจีนกำลังปิดประเทศ ดังนั้น การผลิตอาจจะลดลงกว่าเดิม ขณะที่ฝั่งสหรัฐกำลังขาดแคลนแรงงาน และเริ่มเห็นการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งสองประเทศนี้ GDP เป็น 1 ใน 3 ของโลก จึงเริ่มเห็นความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแล้ว

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่า เงินเฟ้อปีหน้าจะสูงกว่าคาด ทำให้ต้องปรับประมาณการกันหลายครั้ง ซึ่งตรงนี้น่ากังวล หากธนาคารกลางประเมินผิด ก็อาจจะมีผลกระทบรุนแรง

ทั้งนี้ Bank of America คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยรวม 7 ครั้ง หรือเกือบ 2% โดยเป็นการปรับขึ้น 3 ครั้ง ในปีหน้า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป และจะปรับอีก 4 ครั้งในปีต่อไป ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบกับลูกหนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐเองที่มีหนี้ต่อ GDP สูง ซึ่งอาจกระทบกับนโยบายการคลังที่จะใช้ไม่ได้เต็มที่ ส่วนจีนมีหนี้ภาคธุรกิจสูง ถ้าขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบจะอยู่กับส่วนนี้มากกว่า

“ของไทยถ้าจะมีปัญหาคือ หนี้ครัวเรือน ที่อยู่สูงประมาณ 90% ของ GDP ขณะเดียวกัน ช่วงปี 2016-2019 ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า การขาดดุลเงินสดของรัฐบาลเทียบกับ GDP เป็นลบ 2.7% แปลว่ามีการยืมเงินมายันเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ผมว่าสภาวะแบบนี้เป็นปัญหาใหญ่ของไทยในการฟื้นเศรษฐกิจ”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า จุดที่ต้องพิจารณาคือ หนี้เสียและหนี้ที่น่าจะมีปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าจะ Unlock ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เดินต่อไปได้