กรุงไทย ดันแอปเป๋าตัง Unlock Value เครื่องมือลงทุน ต่อยอดคู่ค้า

ผยง ศรีวณิช
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย

กรุงไทยเดินหน้าขยายแพลตฟอร์ม ต่อยอดความสำเร็จ “เป๋าตัง” ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันลูกค้าครอบคลุมทั้งด้านการลงทุน-วิถีชีวิตประจำวัน พร้อมแสดงความมั่นใจระบบแบงก์ดูแลหนี้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ให้ตกหน้าผากลายเป็น NPL ได้จากการรวมพลังกันทุกฝาย

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในหัวข้อ “Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” ในงานสัมมนา Thailand 2022 Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้แพลตฟอร์มของกรุงไทยมีคนเข้ามาอยู่ในระบบรวมทั้งสิ้น 50 ล้านคน

ไม่ว่าจะเป็น Krungthai NEXT จำนวน 12-13 ล้านคน แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง 33 ล้านคน แอปถุงเงิน 1.5 ล้านร้านค้า และบนแพลตฟอร์มไลน์ คอนเน็ค 16 ล้านคน ทำให้กรุงไทยสร้างคุณค่าเพิ่ม นำไปสู่การมอบผลิตภัณฑ์ใหม่ และตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุดได้ เช่น แอปเป๋าตัง สามารถลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ และเทรดทองได้ ส่วนแอปถุงเงิน ได้จับมือ AIS สามารถรับพอยต์ (คะแนน) จากผู้ใช้มือถือได้ทั่วประเทศ

โดยระยะต่อไป กรุงไทยจะมุ่งต่อยอดคู่ค้าของลูกค้า เนื่องจากเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเชื่อมโยงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จึงจำเป็นต้องเชื่อมโยงอีโคซิสเต็ม โดยกรุงไทยเร่งทำงานกับพันธมิตรขยายแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันมากขึ้น

ส่วนการหาพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปลงทุนกิจการเหมือนกับค่ายอื่น ๆ หรือไม่นั้น นายผยงกล่าวว่า การหาพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งพันธมิตรหลักของกรุงไทย คือรัฐบาล ขณะเดียวกันพันธมิตรภาคเอกชน ก็จะมีการต่อยอดไปเรื่อย ๆ

เชื่อดูแลหนี้ 2 ล้านล้านไม่ให้ตกหน้าผา NPL

ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย นายผยงกล่าวว่า กรณีที่มีหนี้ในระบบแบงก์ราว 2 ล้านล้านบาท เสี่ยงตกหน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดใน 3 ระลอกนั้น ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาล ก็ได้ออกมาตรการเชิงรุกประคับประคอง ตั้งแต่การพักหนี้ทั้งระบบในการระบาดรอบแรก และในระลอกที่ 2 และ 3 ก็มีเครื่องมือที่เข้ามาดูแลอย่างยืดหยุ่น

โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่าน 2 ปีนี้ เป็นเหมือนการเลี้ยงไข้ ประคองการรักษาให้คนไข้ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก โดยหน้าผา NPL 2 ล้านล้านบาท เป็นจุดเปราะบางสำคัญ ซึ่ง ธปท.ก็ได้มีมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนไปจนถึงปี 2566 โดยทิศทางอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะมีเครื่องมือช่วยประคับประคองและผลักดัน เพื่อไม่ให้หน้าผา NPL 2 ล้านล้านบาท เกิดการช็อกในระบบ และไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน

“เชื่อว่าหน้าผา NPL 2 ล้านล้านบาท จะต้องรอด เนื่องจากระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ และได้เรียนรู้จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 แล้ว ซึ่งไม่เคยหย่อนวินัยในการดูแลเสถียรภาพของระบบ ทั้งในส่วนสถาบันการเงินและ ธปท. ซึ่งเรียกว่ามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงในการที่จะก้าวผ่านสิ่งที่มีอยู่ แต่ยังต้องระวัง

อย่างไรก็ดี เครื่องมือที่มีอยู่จากทาง ธปท. เพื่อให้สถาบันการเงินหยิบยื่นไปผ่านการประคับประคองยังภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ได้มากที่สุด ฉะนั้น บนความเข้มแข็งและสิ่งที่จะมีการใช้คู่ขนานมาตรการการคลัง เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องการรวมพลังทั้งในเชิงมาตรการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด”