อาคม ชู Unlock เศรษฐกิจประเทศ ปีหน้าคลี่คลาย 100%

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อาคม Unlock เศรษฐกิจ-ความคิดสร้างสรรค์ ชี้ EEC เป็นพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยี ปีหน้าจัดสมดุลเศรษฐกิจใน-นอกประเทศให้สมดุล ให้เศรษฐกิจกระจายถึงชุมชน เตรียมลดโครงการคนละครึ่ง ช่วยเหลือผ่านสวัสดิการแห่งรัฐแทน

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา “Thailand 2022 Unlock value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสวนาพิเศษหัวข้อ “การเงิน-การคลัง” กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ นายอาคมกล่าวว่า เมื่อพูดคำว่า Unlock ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทันทีที่เกิดโควิด-19 หลายประเทศไม่เฉพาะประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ความจำเป็นที่ใช้เม็ดเงิน ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19

สิ่งที่พูดกันคือ นโยบายการเงินการคลัง นโยบายการคลังต้องการใช้จ่าย เพื่อเยียวยาประชาชน ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันไม่ทิ้งการพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตได้บ้างแม้ไม่เต็มที่ เพราะสิ่งที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดทั้งหมด ทุกประเทศมีการล็อกดาวน์ ดังนั้น ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบแน่นอน

นอกเหนือจากเม็ดเงินที่เข้าไปช่วยประชาชน ภาคธุรกิจก็ต้องได้รับความช่วยเหลือผ่านการให้สินเชื่อและพักชำระหนี้ ของไทยดำเนินโครงการผ่านการกู้เงิน ในปี 2563 กู้เงิน 1 ล้านล้าน ในปี 2564 กู้อีก 5 แสนล้าน ทั้งนี้ เงิน 1.5 ล้านล้าน ใช้เรื่องการเยียวยา และพยุงเศรษฐกิจ ผ่านโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน ทำให้อัตราการบริโภคการใช้จ่ายของประชาชนยังอยู่ได้

ในปี 2564 การบริโภคของประชาชนเติบโตเพียงแค่ 0.4% ถือว่าต่ำมาก แต่ใน 0.4% นั้น มาตรการของภาครัฐที่เข้าไปกระตุ้นการใช้จ่ายหรือเยียวยา ทำให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น 1.6% ดังนั้น Unlock ที่สำคัญคือเรื่องนโยบายการคลังที่เปิดช่องให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น

Unlock เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่พฤศจิกายน ให้เศรษฐกิจเดินได้อย่างเต็มที่ ขณะนี้อาจเดินไปได้ครึ่ง ๆ เดินไปคู่กัน ในปีหน้าหากสถานการณ์เศรษฐกิจคลี่คลาย Unlock 100% ให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้ตามวิถีปกติ 100%

เราจะบอกว่า Unlock แบบไร้ขีดจำกัดคงไม่ได้ ยังมีกรอบวินัยการเงินการคลังต้องคุมเอาไว้ เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของประเทศในเรื่องการบริหารการคลัง ดังนั้น เมื่อดำเนินนโยบายแบบนี้ เราต้อง Unlock เพดานหนี้ต่าง ๆ การใช้จ่ายภาครัฐก็ต้องมาจากการกู้อย่างเดียว ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% เพื่อให้มี Room ในการ Exercise นโยบายต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกินไปแบบสุดโต่ง

Unlock ความคิดสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า เพราะเรารู้ว่า 2 ปี เราเจอเศรษฐกิจที่ติดลบ เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป ต้องกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสมดุลมากขึ้นในระหว่างภาคบริการและภาคการผลิต และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ไม่ว่าการเงินการคลังต้องอยู่ในกติกาด้วย

นายอาคมมองมุมมองโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า ว่าเวลานี้รัฐบาลมี Engine of growth ตัวใหม่ คือ EEC เป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนใหม่ จากประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของเรา พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นฐานการผลิต แต่สมัยใหม่ ที่พูดถึง Higher value chain ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เราต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีมาก เป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

แต่ประเด็นที่อยู่ที่ว่าการจะเศรษฐกิจในประเทศกับเศรษฐกิจนอกประเทศ ในอนาคตเราต้องมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น เพราะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เป็นที่เข้าใจได้ว่าเราพึ่งพาจากต่างประเทศมากขึ้น เรื่องการท่องเที่ยวเราต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น เพราะภาคการท่องเที่ยวที่เป็น SMEs มากจนเกินไป จะไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเท่ากับอดีต 40 ล้านคน อาจจะต้องเน้นคุณภาพมากขึ้น

นายอาคมกล่าวว่า การเติบโตเศรษฐกิจในอนาคตในแง่โครงสร้าง คิดว่าเศรษฐกิจของเราเป็นการกระจายอย่างทั่วถึงในระดับประชาชน เพราะในวันนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนออกจากงานค่อนข้างเยอะ มีบางส่วนอยากเปลี่ยนอาชีพดังนั้น การส่งเสริมอาชีพอิสระต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจระดับตัวบุคคล เราพบว่าการเยียวยาตามมาตรา 40 มีผู้ประกอบการอิสระมีผู้มาลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ ประมาณ 7-8 ล้านคน

แสดงว่าคนที่ออกไปจากตลาดแรงงาน หรือคนที่ประกอบอาชีพได้รับผลกระทบ ดังนั้นการการกระจายเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในระดับชุมชน เชื่อว่าแรงกระแทกในอนาคตก็จะเบาลงไป

นายอาคมกล่าวถึงมาตรการเยียวยาหลังจากนี้ว่า ว่าเรื่องการเยียวยาเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า การโอนเงินเข้ากระเป๋าตังประชาชนในช่วงตกงาน ไม่มีงานทำ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แน่นอนที่สุดเรื่องการเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ การทำให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ของตัวเอง ในเรื่องการเยียวยาจะต้องลดลง ไปเน้นเรื่องการสร้างรายได้มากขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

หรือช่วยในเรื่องโครงการคนละครึ่ง ก็คงจะลดลงไป แต่ช่วยในเรื่องการแบ่งเบาภาระประชาชน เช่น ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คาดว่าต้นปีหน้าจะเห็นการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการ ช่วยเหลือทั้งผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย ก็จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป