เงินเฟ้อทะยาน 7.10% สูงสุดรอบ 13 ปี เศรษฐกิจตกต่ำ หวั่นเกิด Stagflation

เงินเฟ้อ

แม้ว่าสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ จะคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ปี 2565 จะขยายตัวในกรอบ 4-5% โดยจะมีค่าเฉลี่ยที่ 4.5% แต่ทว่าผ่านมาได้ 5 เดือน สถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศกลับสะสมสูงถึง 5.19% หรือ “ทะลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไปแล้ว”

โดยล่าสุดดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค. 2565 เท่ากับ 106.62 เทียบกับ เม.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 1.40% เทียบกับเดือน พ.ค. 2564 เพิ่มขึ้น 7.10% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขเดือน เม.ย. 2565 และสูงกว่าเดือน ก.พ.และ มี.ค. ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2565 และเพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2564 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.72%

พลังงาน-อาหารราคาพุ่ง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค. 65 สูงขึ้นถึง 7.10% เป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่ม 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 35.89% ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 8% หลังจากรัฐบาลยกเลิกการตรึงราคา LPG และทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 แบบขั้นบันไดและอัตราค่าไฟฟ้า เพิ่ม 45.43% จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565

ขณะที่สินค้าหมวดอาหารเพิ่ม 6.18% โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่ จากต้นทุนการเลี้ยง ส่วนผักสด-เครื่องประกอบอาหาร-อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน และสินค้าอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู-ยาสีฟัน-สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดโปรโมชั่น ขณะที่สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน-น้ำยารีดผ้า-น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่-เบียร์-สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า มีสินค้าสำคัญบางรายการที่ปรับราคาลดลง เช่น กลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลด 2.81% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร, การศึกษา ลด 0.65% ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น, เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เช่น กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี ลด 0.06% ตามการจัดโปรโมชั่น

ทั้งนี้พิจารณารายการสินค้าทั้งหมดที่นำมาในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการในเดือน พ.ค. 2565 จะพบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 298 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, กับข้าวสำเร็จรูป, อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง), ไข่ไก่, อาหารเช้า, ค่าน้ำประปา, ไก่สด เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 54 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า, ค่าใบอนุญาตขับขี่, ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และสินค้าที่มีราคาลดลง 78 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว, ข้าวสารเจ้า, ขิง, กล้วยหอม, ต้นหอม, มะเขือเทศ, ค่าเช่าบ้าน, ผักกาดขาว และถั่วฝักยาว เป็นต้น

Advertisment

แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังยังสูง

พร้อมกันนี้ สนค.ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 2565 ไว้ว่า จะขยายตัวต่อเนื่องจาก 1) ปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละไม่เกิน 35 บาท 2) การปรับราคา LPG เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได งวดซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 2565 อีก 15 บาทต่อถังขนาด 15 กก. 3) แนวโน้มคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. อีก 40 สตางค์

4) วิกฤตอาหารในตลาดโลกที่หลายประเทศงดการส่งออกอาหาร ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับสูงขึ้น และ 5) ปัจจัยจากความต้องการ (อุปสงค์) เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวหลังจากการผ่อนคลายเปิดประเทศ 1 มิ.ย. 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากขึ้น และความต้องการในการส่งออกที่เติบโตได้ดี ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น

Advertisment

ไทยยืนเป้าเงินเฟ้อ 4-5%

อย่างไรก็ตาม สนค.ยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2565 ไว้ที่ระดับ 4-5% แม้ว่าปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดสมมุติฐานเป้าหมายเงินเฟ้อจะปรับเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ซึ่งในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่ ขณะที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า GDP ปี’65 น่าจะขยายตัวเพียง 3% เท่านั้น

ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันดิบดูไบที่เดิมคำนวณที่ราคาเฉลี่ย 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบระหว่าง 30 พ.ค.-3 มิ.ย. ปรับขึ้นไปเป็น 112 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว เช่นเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนที่วางกรอบไว้ 32-34 บาทต่อเหรียญ ซึ่งขณะนี้ได้ปรับอ่อนค่าลงไปกว่านี้แล้วเช่นกัน

ดัชนีผู้ผลิตพุ่ง 13.3%

ไม่เพียงเท่านั้น ปรากฏราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ราคาวัตถุดิบนำเข้า เงินบาทที่อ่อนค่า ก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเช่นกัน โดย “ดัชนีราคาผู้ผลิต” จากการสำรวจและประมวลผลราคาสินค้าที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตจำหน่ายทั่วประเทศ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 501 รายการ สำหรับเดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 115.1 สูงขึ้น 13.3% หากเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 และปรับตัวสูงขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 โดยเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 11.1%

โดยแบ่งเป็นหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและประมงเพิ่มขึ้น 7.5% ผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้น 76.7% ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.8% สินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 5.9% สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 22.1% และสินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 32.8%

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายน 2565 จะขยายตัวจากหลายปัจจัย ทั้งราคาน้ำมันดิบที่ยังคงเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ การเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสำคัญทั้งค่าปุ๋ย อาหารสัตว์ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นสัญญาณว่า ครึ่งปีหลังคนไทยต้องเผชิญภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับสูงขึ้น แต่ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงติดต่อกัน นั่นอาจจะเป็นสัญญาณสู่ภาวะ stagflation หรือการรวมตัวกันของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สินค้าอุปโภคบริโภคกลับแพงขึ้น เหลือเพียงอัตราการว่างงานเท่านั้นที่จะต้องติดตามต่อไป ซึ่งเป็นภาวะเดียวกันกับที่กำลังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้