15 ปีกองทุน FTA ยกระดับสินค้าไทย โกอินเตอร์สู่ตลาดโลก

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยผลสำเร็จการจัดตั้งกองทุน FTA ตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาที่ให้ความช่วยเหลือไปทั้งหมด 23 รายการสินค้า 6 ประเภทบริการ เน้นอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA ในโอกาสที่ดำเนินโครงการฯ มาเป็นเวลา 15 ปี (2550-2565) ว่า ปัจจุบันไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี 14 ฉบับ 18 ประเทศ

ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ต้องได้รับการเยียวยาเพื่อให้สามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างยั่งยืน กองทุน FTA เป็นเครื่องมือที่กรมการค้าต่างประเทศใช้ในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ามาตั้งแต่ปี 2550

เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และสามารถขยายไปยังตลาดส่งออก โดยการช่วยเหลือของ

โครงการของกองทุน FTA ที่ผ่านมาจะไม่ใช่การช่วยเหลือในรูปแบบของตัวเงิน คือ ไม่ใช่การให้เงินทุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นการให้องค์ความรู้ สร้างทักษะและความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มาตรฐานการผลิตสินค้า สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการผลิตสินค้ารวมไปถึงการตลาดให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสามารถแข่งขันได้

การดำเนินโครงการของกองทุน FTA ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 29 รายการสินค้าและบริการ จำนวนรวม 62 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ภาคเกษตร 13 รายการสินค้า จำนวน 32 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 231 ล้านบาท ได้แก่ โคนม โคเนื้อ ส้ม หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ ข้าว ลิ้นจี่ สับปะรด ปลาน้ำจืด ชา น้ำผึ้ง ไม้ตัดดอก มะพร้าว และกาแฟอาราบิกา
  • ภาคอุตสาหกรรม 10 รายการสินค้า จำนวน 21 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 142 ล้านบาท ได้แก่ สิ่งทอ ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ปลาป่น เครื่องสำอางสมุนไพร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง พลาสติก และอิฐมอญ
  • ภาคบริการ 6 ประเภทบริการ จำนวน 9 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 52 ล้านบาท ได้แก่ โลจิสติกส์ อาหาร ท่องเที่ยว ก่อสร้าง วิศวกรรม และโรงแรม

ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม จนสามารถต่อยอดการผลิตไปได้ถึงการส่งออกไปต่างประเทศ ในภาคการเกษตร อาทิ การพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่สหกรณ์ 5 แห่งรวมถึงสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย โดยได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ

อาทิ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลางโพนยางคำฯ ได้มีการการออกแบบโรงฆ่าสัตว์ใหม่ให้ได้มาตรฐาน GMP และฮาลาล เพื่อยกระดับและผลักดันการส่งออกสู่อาเซียน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าทุกชิ้น

ขณะนี้สหกรณ์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลระดับประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจมาตรฐาน GMP โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 520 ตัว เป็น 640 ตัวต่อเดือน ยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 และได้สินค้าคุณภาพดีที่สามารถจำหน่ายในตลาดพรีเมียมและตลาดออนไลน์ได้ เช่น Villa Market และ Tops Supermarket เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น เนื้อชาบูสไลซ์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สแน็ค เนื้ออบกรอบ รวมถึงสินค้าเครื่องหนัง เป็นต้น และในส่วนของโคนม มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554 มีการพัฒนาระบบเพื่อขอเครื่องหมายรับรอง “โบทอง”

สำหรับนมโคสดแท้ 100% และการจัดตั้งธุรกิจแฟรนไชส์ผลิตภัณฑ์นมแปรรูป สไมล์มิลค์ (Smile Milk) และไอศกรีม Soft serve รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 21 สูตรที่ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์โคนมที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้

สินค้าเกษตรที่ประสบความสำเร็จ คือ สับปะรด ซึ่งกองทุน FTA ได้ช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสับปะรดนางแล จังหวัดเชียงราย ให้ใช้แนวคิดการตลาดนำการผลิตสามารถเจรจากำหนดราคาจำหน่ายและขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ

โดยมุ่งเน้นไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ทำการผลิตและการตลาดโดยใช้โลโก้ “Nang Lae Pine” มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการจัดการไร่สับปะรดในระบบเกษตรกรที่ดีและเหมาะสมทั้งของไทย (GAP) และญี่ปุ่น (JAS) รวมถึง Global GAP จนสามารถวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่นได้

นอกจากนี้ กองทุน FTA ช่วยเหลือสินค้าส้มสายน้ำผึ้งในเชียงใหม่โดยให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตส้มคุณภาพแม่อายและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมส้มในเขตภาคเหนือตอนบน (คลัสเตอร์ส้ม) มีการดำเนินการต่าง ๆ

อาทิ สร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าส้มคุณภาพแม่อาย ใช้ QR Code ในการตรวจสอบย้อนกลับและรับรองคุณภาพการผลิตผ่านการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP มีการพัฒนาวิธีการทดสอบโรคโดยใช้ชุด Test kit มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและเชื่อมโยงเครือข่ายจนสามารถนำสินค้าเข้าจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เช่น Tops Supermarket ได้

ในภาคอุตสาหกรรม กองทุน FTA ได้ให้ความช่วยเหลือ อาทิ สินค้าปลาป่นที่มีสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยเข้าร่วมโครงการ มีการเพิ่มขีดความสามารถโดยการจัดทำระบบประกันคุณภาพให้กับโรงงานปลาป่นเพื่อความปลอดภัยของอาหารสัตว์ มีการฝึกอบรมระบบ GMP และ HACCP ให้โรงงานจนสามารถผ่านการรับรองทั้งสองมาตรฐานได้

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน ที่ได้ให้ความช่วยเหลือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อรองรับผลกระทบจากบันทึกความตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement: MRA) ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามเกณฑ์ GMP ของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) ให้ผู้ประกอบการ

นายพิทักษ์ กล่าวอีกว่า ผลงานจากการดำเนินโครงการต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการดำเนินโครงการช่วยเหลือของกองทุน FTA ของกรมการค้าต่างประเทศตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอีกหลายโครงการที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องเพื่อให้สามารถต่อยอดและสร้างผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ากรมการค้าต่างประเทศไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

โดยในปี 2564 มีเกษตรกรยื่นสมัครขอรับการความช่วยเหลือจากกองทุน FTA จำนวนมาก และในทุกวันนี้ยังคงได้รับการสอบถามถึงโครงการกองทุนฯ จากกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจอยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีกองทุน FTA ของกรมการค้าต่างประเทศ

แต่กระทรวงพาณิชย์ยังให้ความสำคัญโดยจะจัดตั้งเป็นกองทุนถาวรที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ในรูปแบบตัวเงินและองค์ความรู้ ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …. ซึ่งจะทำให้ดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างยั่งยืน