3 โรงกลั่นปตท.ร่วมมือรัฐ เจียดค่าการกลั่น ยันไม่กระทบแผนลงทุน 9.1 หมื่นล้าน

ปตท.

3 โรงกลั่นปตท.ร่วมมือรัฐ ช่วยค่าการกลั่น ขอรัฐเคาะอัตราที่เหมาะสม พร้อมชี้แจงนักลงทุน มั่นใจไม่กระทบแผนลงทุน 9.1 หมื่นล้าน ครึ่งปีหลัง ศก.ฟื้น พร้อมลุยตั้งโรงงานอีวี-ประหยัดพลังงานระยะยาว ดูแลกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 แหล่งข่าวบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐ ขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงกลั่นในการจัดสรรกำไรขั้นต้น เพื่อช่วยรักษาเสถียรกองทุนน้ำมันว่า ในส่วนของกลุ่มโรงกลั่นปตท. 3 โรง (บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP , บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC) พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐหากมีการออกประกาศขอความร่วมมือในอัตราที่เหมาะสม โดยมั่นใจว่ามาตรการที่ให้การช่วยเหลือต่อภาครัฐดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของปตท. ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ 9.11 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้มีการสอบถามจากนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศเข้ามาทาง IR ถึงนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องอธิบายได้ เพราะบทบาทหนึ่งคือการดูแลด้านสังคม สอดคล้องกัขเทรนด์ของโลก การทำธุรกิจ ต้องมีนโยบายเรื่อง ESG”

อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นที่มีการพูดถึงกันในขณะนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง ปตท.มองว่าการพิจารณาเรื่องนี้ต้องคิดรอบ โดยเกณฑ์การคำนวนค่าการกลั่น ในกระบวนการกลั่นนั้นจะมีผลิตภัณฑ์บายโปรดักซ์หลายอย่างซึ่งนำออกมาจำหน่ายราคาถูกกว่าน้ำมัน ดังนั้นจะต้องแยกออกมาคำนวณถัวเฉลี่ย เช่น น้ำมัน 1 ลิตร กลั่นออกมาจะได้เบนซิน 30% ดีเซล 20% น้ำมันเตาเท่าไร แล้วขายได้เท่าไร ถัวกันแล้วจึงค่อยมาลบ น้ำมันดิบอีกที

อีกทั้งแต่ละโรงกลั่นยังมีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในการกลั่นที่แตกต่างกัน มีการใช้น้ำมันที่มีสเปคแตกต่างกัน และมีต้นทุนในการกลั่นแตกต่างกัน ดังนั้น อัตราค่าการกลั่นจึงไม่ใช่สูงอย่างที่มีการกล่าวถึง และหากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายๆต่างออก จะพบว่าต้นทุนต่างปรับสูงขึ้น

“การคำนวณค่าการกลั่นที่ออกมาสูง กว่า 10 เท่า โดยใช้ฐานเปรียบเทียบจากปีที่ต่ำสุดกับปีที่สูงสุดจึงมีช่วงห่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาช่วงโควิดธุรกิจโรงกลั่นมีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำลงมากเจอกับภาวะขาดทุน และในยามที่เกิดภาวะไม่ปกติ ในขณะนั้นธุรกิจก็แบกรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้ อีกทั้ง โรงกลั่นก็ยังได้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเช่นไทยออยล์มีโครงการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในการผลิตน้ำมันยูโร 5 อีกเป็นหลักแสนล้านบาท ”

สำหรับแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาประเทศไทย ต้องมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยคงมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก ซึ่งในส่วนนี้ทางปตท. มีมาตรการ ช่วยเหลือ LNG พ่อค้าหาบเร่แผงลอย NGV สำหรับรถแท็กซี่และโครงการอื่นๆอีกหลายด้าน เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้บริโภค กลุ่มเปราะบาง

ขณะเดียวกันจะต้องมีการลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทนคู่ขนาน ซึ่งในส่วนของปตทก็มีแผนจะส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ตามแผน ปี 2030 โดยบริษัทอรุณพลัส ได้ร่วมกับฟอคคอน จัดหาที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เตรียมจะตั้งโรงงานรับจ้างผลิต (OME) ในปี 2024 (2567) พร้อมแล้ว นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป้าหมายถึง 12,000 เมกะวัตต์จากปัจจุบัน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ Net Income จากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ในปี 2030 ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจ ไทยปีนี้ดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ยังต่องระวังในเรื่องของเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งในเรื่องของดอกเบี้ย หากดูจากผล ประชุมกนง ล่าสุด ก็จะเห็นถึงสัญญาณเรื่องดอกเบี้ยของประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องระวัง เพราะหากความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยในประเทศ กับต่างประเทศ ห่างกันมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินทุนไหล ออกได้

“ส่วนคาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันครึ่งปีหลัง ปตทยังมองว่าราคาน้ำมันจะสูงกว่าระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจากเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่าซึ่งขณะนี้อ่อนลงมาถึง35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ”


“การดูแลเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องดูแล โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบาง แต่ ประเด็นสำคัญสุดคือ การรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงาน เพราะ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นนอกจาก เรื่องสงคราม ก็คือ เรื่องของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมา ขณะที่กำลังผลิตไม่เพียงพอ เฉพาะรัสเซียหายไป 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากทั่วโลกร่วมกันประหยัดลงได้แค่ 5% ก็จะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันลดลง 5 ล้านบาร์เรล ก็จะช่วยเสถียรภาพราคาน้ำมันได้”