กลุ่มปตท.ทุ่ม 100 ล้าน ผนึกจุฬา ลุยวิจัยสารชะลอวัย “มณีแดง”

กลุ่มปตท.

กลุ่มปตท.ทุ่ม 100 ล้าน ผนึกจุฬา ลุยวิจัยสารชะลอวัย “มณีแดง” แง้ม ทดสอบกับหนูแล้วได้ผลดี อยู่ระหว่างทดสอบกับลิง จ่อทดสอบกับคนปีหน้า มั่นใจเจาะกลุ่มคนรักสวยรักงาม-คนสูงวัย ดันไทยฮับสุขภาพ

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่ม ปตท.โดยบริษัท ย่อยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด มุ่งสู่ธุรกิจใหม่ จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (opportunity) และเป็นการแก้จุดบกพร่อง หรือ pain point ของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนทราบประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (ageing society) และมีปัญหาเรื่องมลพิษ PM 2.5 ซึ่งจะมีต่อต้นทุนการดูแลสุขภาพในอนาคตสูงขึ้น นำมาสู่ธุรกิจใหม่ หรือ life science ผ่าน อินโนบิก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม new S-curve

ล่าสุดอินโนบิกได้ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงทุนวิจัยและพัฒนาสารมณีแดง ด้วยงบประมาณเฟส 1 มูลค่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้สารดังกล่าว จะเป็นสารที่ทำให้ช่วยในเรื่องของซ่อมแซมเซลล์ ที่ไม่ใช่สเต็มเซลล์ แต่มณีแดงจะเข้าไปในระดับ DNA ช่วยกลุ่มคนที่รักความสวยความงาม หากจะเปรียบเทียบง่ายๆ คือ ทำไมมนุษย์เราถึงมีความชรา เนื่องจากเซลล์ในร่างกายทำงานไม่ดี นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ซึ่งมณีแดงจะช่วงสร้างซ่อมแซมเซล์ที่เหี่ยวลง

“หากเซลล์เสื่อมสภาพ การสั่งการก็จะเสื่อม เพราะ DND เสื่อม ทั้งข้อต่อ เมื่ออายุมากขึ้นก็หลุด ไม่แข็งแรง สั่งการไม่ดี ยาตรงนี้เมื่อฉีดเข้าไปจะช่วยซ่อมข้อต่อ DNA ทันที กลับมากระชับ จัดการทุกระบบในร่างกายได้หมด โดยผ่านทดลองในหนูแก่แล้ว พบว่ามีความกระตือรือร้นขึ้น ความจำดีขึ้นหน้าท้องหนูหายไป เชื่อว่าผู้หญิงจะชอบแน่นอน ซึ่งมณีแดงจะเป็นสารเคมี ที่ทดลองผ่านหนูแล้ว และคิดค้นมาแล้วเกือบ 20 ปี ต่อไปจะทดลองกับลิงถ้าผ่านลิงแล้ว คาดว่าปีหน้าสามารถทดลองกับคนได้ และจะพัฒนาไปในระดับการรักษาโรคมะเร็งต่อไป”

ทั้งนี้ หากจะนำไปสู่ความสำเร็จที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ปตท.จะเป็นพันธมิตรกับทุกคนสร้างระบบนิเวศ หรือ ecosystem ของวิทยาการการแพทย์นี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศในการส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับสุขภาพ

ปัจจุบันไทยผลิตได้เพียงยาสามัญแต่ต้องนำเข้ายาที่มีราคาสูง 70-80% เพนพอยต์ไทยยังขาดสายป่านยาว หรือระบบอย่างเพียงพอ อินโนบิกสามารถผลิตยาบางชนิดได้ แต่ยังต้องนำเข้าสารประกอบสำคัญ หรือมีแต่กระบวนการสกัดแต่ยังขาดกระบวนการทดสอบเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งอินโนบิกมีหน้าที่เติมเต็มอีโคซิสเต็มเหล่านี้