หมดตัวช่วยค่า Ft รับมือค่าไฟพุ่ง 5 บาท/หน่วย

ลดค่าไฟ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

นับเป็นเรื่องน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ออกมาเตือนถึงค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 หรืองวดสิ้นปี มีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นสูงถึง 90-100 สตางค์/หน่วย ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 5 บาท/หน่วยทีเดียว

การปรับเพิ่มขึ้นของค่า Ft ด่งกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) ต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปรับราคาสูงขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ก๊าซ LNG ยืนอยู่ในราคาเฉลี่ย 39 เหรียญ/ล้าน BTU หรือจากระดับราคาก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 20 เหรียญ/ล้าน BTU

2) การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากแหล่ง “เอราวัณ” ยังไม่สามารถฟื้นฟูการผลิตให้กลับมาอยู่ที่วันละ 800-1,000 ล้าน ลบ.ฟุตได้ โดยขณะนี้ผลิตได้เพียง 350-400 ล้าน ลบ.ฟุต/วันเท่านั้น การหายไปของก๊าซดังกล่าวมีผลต่อราคาถ่วงน้ำหนัก และต้องเพิ่มการนำเข้าก๊าซจากนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซ LNG และคาดว่าจะติดอยู่ในสภาพนี้อีกไม่ต่ำกว่า 2 ปีทีเดียว

3) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก จากเฉลี่ยเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 34.40 บาท มาอยู่ที่ 36.22 บาทในปัจจุบัน ส่งผลให้ราคานำเข้า LNG ปรับสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยน ยิ่งเงินบาทอ่อนค่ามากขึ้นเท่าใด ราคาก๊าซที่จะต้องซื้อก็แพงขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ในงวดถัดไปนั้น เป็นการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่งวดปลายปี 2564 โดยงวดล่าสุดคือ งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ค่า Ft ปรับขึ้น 24.77 สต./หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สต./หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนเพิ่มเป็น 4 บาท/หน่วย จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 3.76 บาท/หน่วยหรือเพิ่มขึ้น 5.82%

ความจริงแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ค่า Ft ที่คำนวณได้แท้จริงนั้น “สูงกว่า” ที่เรียกเก็บจากประชาชนมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) “ตรึง” ค่า Ft ภายใต้หลักการให้ประชาชนจ่ายค่า Ft “ต่ำกว่า” ต้นทุนที่แท้จริง โดยส่วนที่เหลือนั้นให้ กฟผ.รับภาระเอาไว้ก่อน ผลจากการรับภาระดังกล่าวกำลังจะกลายเป็น “ภาระอันหนักหน่วง” สำหรับ กฟผ.เอง

กล่าวคือ ค่า Ft ตั้งแต่งวดสุดท้ายของปี 2564 ถึงปัจจุบัน กฟผ.รับภาระไปแล้วประมาณ 80,000 ล้านบาท

ขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เองก็ทราบดีถึงภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. จนเริ่มมองต่อไปในอนาคตแล้วว่า หากค่า Ft ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 พุ่งถึง 90-100 สต./หน่วยจริง และรัฐบาลยังมีนโยบายให้ กฟผ.แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงผันแปรที่พุ่งสูงขึ้นต่อไป กฟผ.จะมีภาระค่าเชื้อเพลิงพุ่งทะลุเกินกว่า 100.000 ล้านบาทแน่นอน

เรียกว่า ภาระค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.กำลังตามกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปติด ๆ

ดังนั้นทางเดียวนอกเหนือไปจากการ “ลดภาระ” ด้วยการให้ กฟผ.กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน (มติ ครม.อนุมัติให้กู้เบื้องต้น 25.000 ล้านบาท) มาอุ้มค่า Ft ให้กับประชาชนต่อไปก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร Ft ตามสภาพความเป็นจริงของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งก็คือราคาก๊าซ LNG นั่นเอง

ประเด็นนี้ทาง กกพ.ได้ส่งสัญญาณออกมาแล้ว กกพ.ชุดปัจจุบันได้จัดลำดับความสำคัญของการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าไว้แล้ว โดยจะดูแล “ความมั่นคง” ด้านพลังงานของประเทศเป็นอันดับแรก ส่วนลำดับรองลงมาถึงจะเป็นการดูแล “ผลกระทบ” ต่อค่าครองชีพของประชาชน

หรือแปลความหมายสิ่งที่ กกพ.กำลังบอกประชาชนสำหรับค่า Ft งวดถัดไปก็คือ ให้เตรียมตัวกันไว้ให้ดีที่จะต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้า 5 บาทกว่าต่อหน่วยแน่นอน จากเหตุผลที่ว่า หากยังปล่อยให้ กฟผ.รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (มากกว่า 100,000 ล้านบาท) ต่อไปแล้ว ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศแน่