จุรินทร์ลงนาม Mini FTA ไทย-ปูซาน ในประวัติศาสตร์ ต่อจากไหหลำ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“จุรินทร์” สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง นำพาณิชย์ลงนาม Mini-FTA ไทย-ปูซาน ของเกาหลีใต้ ต่อยอดส่งออก ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 2 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการค้า หรือมินิเอฟทีเอ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจปูซาน หรือ Busan Economic Promotion Agency (BEPA) สาธารณรัฐเกาหลี

ว่าการทำ MOU ครั้งนี้ถือว่าเป็นการขยายความร่วมมือส่งเสริมการส่งออก ต่อจาก Mini FTA กับมณฑลไห่หนานของจีน มณฑลกานซู่ของจีน เมืองโคฟุของญี่ปุ่น และล่าสุดกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจเป็นบันใดอีกขั้นหนึ่งในการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้สูงขึ้น นครปูซานนั้นเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ ทําให้ปูซานมีโครงสร้าง พื้นฐานที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ นครปูซานกับกรุงเทพฯ ยังได้ตกลงเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันตั้งแต่ปี 2011

“เกาหลีใต้ถือเป็นพันธมิตรการค้าสำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 10 ของโลก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีปีที่แล้ว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าลงลึกถึงการค้าระหว่างไทยกับปูซาน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 2,330 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 75,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว ที่สำคัญท่าเรือปูซานเป็นท่าเรือที่รองรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังเกาหลีมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ตนมั่นใจว่า MOU ครั้งนี้จะมีความสำคัญ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับปูซานและประเทศเกาหลีในที่สุดต่อไป

รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศเชิงรุก โดยเร่งรัดการเจรจาทุกระดับเพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยตั้งเป้าว่าภายหลังการลงนามในครั้งนี้

สร้างมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังสาธารณรัฐเกาหลีจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2567) พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่มีจุดเด่นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยปูซานตั้งเป้าเป็นเมืองอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จะมีการจัดงานภาพยนตร์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเกมที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลี เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ใช้ความร่วมมือด้านการค้าผ่านซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม

นายมูน ซึง ฮย็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจําประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2022 จะครบรอบ 64 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เกาหลี อีกทั้งยังเป็นปีที่ครบรอบ 10 ปีของการยกระดับ ความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ

ในปี 2019 มีชาวเกาหลีกว่า 1.9 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย เมื่อพิจารณาถึงมิตรภาพอันยาวนานที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไว้เช่นนี้ ตนหวังว่าในอนาคตความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีจะแน่นแฟ้นและมั่นคงมากยิ่งขึ้น เหมือนดังที่การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว แต่ตนคิดว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีนั้นยังสามารถพัฒนาได้อีกมากในอนาคต