ขึ้นค่า Ft อุ้ม กฟผ.ล้างหนี้ โยนภาระผู้ใช้ไฟแพงถึงปี 2567

มิเตอร์ไฟ

กกพ.ตัดใจขึ้นค่าไฟผันแปร ก.ย.-ธ.ค. 2565 ช่วย กฟผ.ลดหนี้ไปไม่สุดทาง แบบพบครึ่งทางขึ้น 68.66 สตางค์ ปรับไม่ถึง 5-6 บาท/หน่วย ส่งผล กฟผ.ต้องแบกหนี้ 8 หมื่นล้าน อนาคตต้องปรับขึ้นอีก 3 งวด งวดละ 40 สตางค์ ถึงปี 2567 ล้างหนี้ กฟผ.อ้างรับภาระแทนประชาชน สภาเกษตรชี้รายย่อยแบกค่าไฟอ่วม วอนรัฐต่อมาตรการช่วยลดค่าไฟ

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft ในงวดที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค. 2565) จำนวน 68.66 สตางค์/หน่วย ที่จะส่งผลทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.72 บาท ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่สูงมาก ต่อเนื่องจากการปรับขึ้นค่า Ft ใน 2 งวดติดต่อกัน

กล่าวคือ งวดที่ 1 (ม.ค.-เม.ย. 2564) เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์/หน่วย และงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 2565) เรียกเก็บอีก 24.77 สตางค์/หน่วย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้อีกต่อไป

เนื่องจากระยะเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา (3 งวดของการเรียกเก็บค่า Ft) ที่รัฐบาลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับภาระค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ไว้ แต่ให้ประชาชนรับภาระ (ค่า Ft) ให้น้อยที่สุดนั้น

ปรากฏ กฟผ.ได้แบกรับภาระไว้แล้วกว่า 83,010 ล้านบาท ส่งผลให้ กฟผ.กำลังเผชิญกับภาวะการขาดสภาพคล่องทางการเงิน หากยังไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นทั้งในงวดปัจจุบันและในอดีต

ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า Ft และค่าไฟฟ้าครั้งนี้ จะทำให้ครัวเรือนรายย่อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 100 หน่วย ได้รับ “ผลกระทบสูงสุด” ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3.66 บาท/หน่วย เป็น 4.34 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 19%

รองลงมาคือ กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.11 บาท เป็น 4.80 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 17% และกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วยขึ้นไป จะได้รับผลกระทบต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.48 บาท เป็น 5.17 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 15%

ขณะที่มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านมาด้วยการให้ “ส่วนลด” ค่า Ft แก่ผู้ใช้ไฟบ้านที่อยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก ยอดใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ก็กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ จะได้รับการต่ออายุออกไปอีกหรือเปล่า

เตรียมเปิดสูตรคำนวณ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 กกพ.จะ “เปิดเผยรายงานสรุป” การพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3 เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565

ซึ่งได้นำความเห็นจากที่เปิดรับฟังความเห็นเรื่องค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ft) ระหว่างวันที่ 12-25 กรกฎาคม 2565 มาประกอบการพิจารณาด้วย โดยมีหลักการสำคัญที่จะมุ่งให้เกิดการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดขึ้น ตามที่ได้วางสมมุติฐานไว้ 3 ข้อ พร้อมกับข้อเสนอที่ กฟผ. ส่งมาก่อนหน้านี้

“การประเมินปรับขึ้นค่า Ft ครั้งได้รวบรวมความเห็นจากการเปิดรับฟังความเห็น ซึ่งคิดว่ามีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุดที่เคยทำกันมา โดย กกพ.มีหน้าที่นำข้อมูลที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมาพิจารณา โดยครั้งนี้ได้ประเมินผลจากการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในเมียนมาที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 ด้วยว่า

ก๊าซธรรมชาติจะหายไปเท่าไร และต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ก่อนที่จะสรุปผลออกมา กกพ.ได้มีการหารือกันถึง 3 รอบ ผมพร้อมที่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงให้ทราบ ส่วนมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าคาดว่า หลังจากทราบค่า Ft งวดใหม่ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ทางรัฐบาลได้มีการเตรียมดำเนินการอยู่แล้ว” นายคมกฤชกล่าว

เปิดสูตรคำนวณค่า Ft 68.66 สต.

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า กกพ.ได้ประชุมเรื่องการปรับขึ้นค่า Ft ต่อเนื่องมาแล้ว 2 งวด ในวันที่ 29 มิ.ย.กับวันที่ 6 ก.ค. 2565 ซึ่งประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรที่ กฟผ.เสนอ มีค่าอยู่ที่ 236.97 สตางค์/หน่วย (2.36 บาท) หรือเพิ่มขึ้น 212.20 สต./หน่วย โดยจะมาจาก 2 ส่วนคือ

1) ประมาณการต้นทุนการผลิตและซื้อไฟฟ้าประจำงวด ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าและราคาเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นภายหลังจากเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน คิดเป็น 93.43 สตางค์/หน่วย กับ 2) ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า “ที่เกิดขึ้นจริง”

เพิ่มขึ้นจากกรณีค่าบาทอ่อนและค่าเชื้อเพลิงที่ส่วนใหญ่คือ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน “สูงกว่าประมาณการ” ไว้ ส่งผลให้ Ft ที่เก็บจากผู้ใช้จริง “ต่ำกว่า” ค่าใช้จ่ายจริงที่ทาง กฟผ.ได้แบกรับภาระไว้ 2 งวดที่ผ่านมา รวม 83,101 ล้านบาท หรือ 143.54 สตางค์ต่อหน่วย

นำมาสู่การวางสมมุติฐานของ “กกพ.” ในการขึ้นค่า Ft ไว้ 3 แนวทาง คือ 1) ปรับค่าไฟ 5.17 บาท หรือปรับขึ้น 28% จากผลการคำนวณค่า Ft งวด 3 เท่ากับ 139.13 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์/หน่วย โดยทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคืนให้ กฟผ. 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ภายใน 1 ปี และ กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 56,581 ล้านบาท

2) ปรับค่าไฟ 4.92 บาท หรือปรับขึ้น 23% จากค่า Ft เรียกเก็บ 116.28 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 114.36 สตางค์/หน่วย โดยให้ทยอยเรียกเก็บเงินชดเชยคืนให้ กฟผ. 22.85 สตางค์/หน่วยภายใน 1 ปี กฟผ.บริหารจัดการแทนประชาชน 69,796 ล้านบาท

และแนวทางที่ 3) ที่เป็นแนวทางที่่ กกพ. “เลือก” ปรับขึ้นค่า Ft ที่จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยให้ค่าไฟอยู่ที่ 4.72 บาท หรือปรับขึ้น 17% จากปัจจุบัน โดยเรียกเก็บค่า Ft ที่ 68.66 สตางค์/หน่วย ซึ่งวิธีการหลังสุดนี้ กฟผ.จะต้องบริหารจัดการแทนประชาชน 83,010 ล้านบาทไว้ก่อน

สำหรับสมมุติฐานที่ใช้คำนวณค่า Ft งวดนี้จะมีองค์ประกอบ 3 เรื่อง คือ 1) การจัดหาพลังงานคำนวณว่าตัวเลขคาดการณ์การผลิตและใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 64,091 ล้านหน่วย ลดลงจากงวดที่ 2 อยู่ที่ 68,731 ล้านหน่วย ขณะที่การประมาณการค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ (EFC) อยู่ที่ 213,951 ล้านบาท ลดลง 647 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่ 214,598 บาท

โดยค่าใช้จ่ายก้อน 213,951 ล้านบาทนี้ จะแบ่งเป็น ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน 198,862 ล้านบาท กับค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ 15,089 ล้านบาท 2) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเฉลี่ยย้อนหลัง 1 เดือน เท่ากับ 34.40 บาท ซึ่งอ่อนค่าลง 1.20 บาท จากงวดก่อนหน้าที่ใช้ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

และ 3) ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าใน 4 กลุ่ม คือ ก๊าซธรรมชาติทุกแหล่งเท่ากับ 481.98 บาทต่อล้าน BTU เพิ่มขึ้น 14% จากงวดก่อนหน้าที่ประมาณการ 422.36 บาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้ก๊าซ LNG นำเข้าสัญญา Spot สูงถึง 9-21% ด้วยราคานำเข้าที่สูงถึง 874-991 บาทต่อล้าน BTU

เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า (194-232 บาท/ล้าน BTU) แต่ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ตามสัญญาจากช่วงเปลี่ยนผ่านผู้พัฒนาแหล่งก๊าซ (ปตท.สผ.) กับก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่จะทยอยลดลง 15% ในเดือน ต.ค. และ 22% ในเดือน ธ.ค.

ขณะที่เชื้อเพลิงอีก 3 ชนิด ได้แก่ ราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 1.42 บาท/ลิตร เป็น 20.50 บาท/ลิตร, ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.33 บาท/ลิตร เป็น 28.13 บาท/ลิตร และราคาถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้น 216.11 บาท/ตัน เป็น 3,046 บาท/ตัน

กฟผ.ได้แค่ค่าเชื้อเพลิงช่วงปลายปี

ด้านแหล่งข่าวจาก กฟผ.กล่าวว่า ถ้า กกพ.อนุมัติให้ปรับขึ้นค่า Ft ตามข่าวที่ออกมาจริง (68.66 สตางค์/หน่วย) เท่ากับว่าภายใต้ระยะเวลาของการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปรงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของปีนี้ กฟผ.จะได้เงินค่าเชื้อเพลิงไหลเข้ามาเพิ่มประมาณ 45,000-46,000 ล้านบาท

คำนวณจากยอดขายไฟต่องวดที่ 67,000 ล้านหน่วย คูณด้วยค่า Ft ใหม่ 68.66 สตางค์ เท่ากับว่าเงินจากการปรับขึ้นค่า Ft ดังกล่าวจะถูกมาช่วย “ค่าเชื้อเพลิงประจำงวดนี้” เท่านั้น ทว่า กฟผ.ยังต้องแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่ค้างมาอีก 3 งวดต่อไป คือ 83,010 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขค่าเชื้อเพลิงตามจริงตอนนี้อาจจะสูงทะลุ 100,000 ล้านบาท ไปแล้วก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หากในปี 2566 ทาง กกพ.พิจารณาให้ทยอยปรับขึ้นค่า Ft เพื่อมาช่วยลดภาระค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.ต้องแบกไว้ต่อไป ด้วยการปรับขึ้นงวดละ 40 สตางค์ต่อเนื่อง 3 งวดในปี 2566 จึงจะใช้หนี้ค่าเชื้อเพลิงที่ค้างมา 83,010 ล้านบาทหมด

แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาพลังงานโลกในอีก 1 ปีข้างหน้าด้วยว่า จะปรับขึ้นหรือลดลงอย่างไร ถ้าหากรัสเซียยังปิดท่อส่งก๊าซไปยุโรป และทุกประเทศแห่กันเข้ามาซื้อก๊าซ LNG ก็จะยิ่งทำให้ซัพพลาย LNG ของโลกขาด ก๊าซนำเข้าก็จะยิ่งแพงขึ้นได้

“การขึ้นค่า Ft งวดนี้ไม่ใช่ภาระในการปรับค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.จะสิ้นสุดลง เพราะปีต่อไปจะต้องรับภาระอีก สมมุติแค่ 83,010 ล้านบาท หาร 3 งวด เฉลี่ยงวดละเกือบ 30,000 ล้าน ที่ต้องใช้คืน กฟผ. ดังนั้นวิธีคำนวณถ้าจะคืนเพิ่มก็ 30,000 ล้านหน่วย หารด้วย 67,000 ล้านหน่วยที่ขาย เฉลี่ย 0.40 สตางค์ ต่อไป 3 งวด

ดังนั้นงวดนี้จึงเป็นเพียงแค่การพยุงไม่ให้ภาระค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่การรักษาอาการเพราะเป็นการเลือกรักษาอาการทุเลาให้ กฟผ.เท่านั้น ไม่สามารถโยนภาระที่ กฟผ.แบกแทนประชาชนทั้งหมดกลับไปรวดเดียว ถ้าทำอย่างนี้รัฐบาลจะเสียคะแนนเสียงได้”

สำหรับการดำเนินการของ กฟผ.ต่อจากนี้ก็คือ การปรับแผนบริหารเงิน โดยเฉพาะประเด็นกระแสเงินสดที่กำลังจะมีปัญหานั้นเป็นเพราะ สถานการณ์ของ กฟผ.คือ มีเงินจ่ายออกจากค่าเชื้อเพลิง-ค่าซื้อไฟฟ้า “มากกว่า” รายได้ที่ยังไม่เข้ามา ดังนั้นต้องมีปัญหาอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้ตัวเลขแน่ชัดว่า “เท่าไร”

ดังนั้นการที่รัฐบาลอนุมัติให้ กฟผ.กู้เงินเข้ามา กฟผ.ก็คงต้องกู้ตามกรอบ 85,000 ล้านบาท ส่วน “ดอกเบี้ย” ที่เกิดจากเงินกู้นี้จะถูกนำมาคำนวณเพิ่มเข้าไปในค่า Ft อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดให้ “ดอกเบี้ย” อยู่ในหลักเกณฑ์คำนวณหรือไม่แต่เดิมในอดีตจะไม่นับรวมเข้าไปเพราะถือเป็นต้นทุนการดำเนินการของ กฟผ.เอง

คน.เชื่อกระทบต้นทุนผลิตไม่มาก

รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาว่า ท้ายที่สุดผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นก็คือ ผู้ใช้ไฟฟ้า กฟผ.จะไม่เป็นอะไรเลย เพราะไม่มีทางที่รัฐบาลจะปล่อยทิ้ง กฟผ. ประเด็นนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเตรียมตัวรับมือยาวข้ามปี

ส่วนประเด็นที่ว่าควรจะดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า หรือ Fuel Mix ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเข้ามานั้น ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างไรก็กระทบต่อ “ต้นทุน” การผลิตสินค้าอยู่แล้ว แต่การทยอยปรับขึ้นยังถือว่าดีกว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในคราวเดียว

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด แต่ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปด้วย “กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้พลังงานและไฟฟ้ามาก ในไตรมาสแรก การจำหน่ายไฟให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ขยายตัว 1.6% การผลิตสินค้าอาหารกระป๋อง มีโครงสร้างต้นทุนด้านพลังงานคิดเป็น 5-10% การเกิดภาวะวิกฤตพลังงานส่งผลกระทบด้านต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตเพิ่มขึ้นในอาหารกระป๋องราว 10%”

ด้าน ร้อยเอกจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เบื้องต้นจากผลการศึกษากระทบการปรับค่าไฟฟ้า Ft หากปรับขึ้นไปที่ 68.66 สตางค์/หน่วย จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวมสัดส่วนไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า

ส่วน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาต้องขอวอนให้รัฐบาลดูแลปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการ “ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าไฟ” ต่อเนื่องไปอีก จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนและเกษตรกรรายย่อย รวมถึงวิสาหกิจการเกษตรที่จะเดือดร้อนและได้รับผลกระทบมาก เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกอย่าง

ทั้งค่าปุ๋ย น้ำมัน และค่าไฟ แต่ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น GDP เกษตรสูงขึ้นก็จริง แต่ต้องดูรายเซ็กเตอร์ จะเห็นมีสูงขึ้นเพียงบางรายการ เช่น ทุเรียน แต่สินค้าเกษตรชนิดอื่นน่ากังวลมากโดยเฉพาะข้าว ขณะเดียวกันสินค้าประมงและปศุสัตว์ก็จะเป็นอีกกลุ่มที่กระทบ เพราะมีการใช้ไฟฟ้าในการผลิตสูงมาก