โรงเรียนเอกชนวิกฤต ส่อปิดกิจการอีกหลายแห่ง กรุงเทพฯ หนักสุด 

โรงเรียนเอกชนหลายแห่งวิกฤต ส่อปิดกิจการต่อเนื่อง กรุงเทพฯ หนักสุด ผู้ปกครองค้างค่าเทอม 3 พันล้านบาท 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มติชน รายงานว่า จากกรณีกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านอ่อนนุช ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) หลังโรงเรียนแจ้งปิดกิจการล่วงหน้าเพียง 14 วัน ทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ไม่สามารถหาที่เรียนให้บุตรหลานได้ทัน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 10,000-30,000 บาท จากค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน ค่าเรียนซัมเมอร์ เป็นต้น

นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า เชื่อว่า สช.จะดำเนินการช่วยเหลือและหาทางออกได้ อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนแจ้งผู้ปกครองกระชั้นชิดเกินไป เพราะตามกฎหมายโรงเรียนต้องแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าก่อน 120 วัน

“จากกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนกำลังอยู่ในสภาวะขาดทุนตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หลายแห่งก็ค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว หลาย ๆ แห่งมีนักเรียนสมัครเต็มจำนวน โดยภาพรวมก็มีทั้งปิดตัวและเปิดใหม่

แต่ทั้งนี้ก็มองว่ายังน่าห่วง โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัด ประกอบกับผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนอาจจะไปต่อไม่ได้”

ผู้ปกครองค้างค่าเทอม 3 พันล้าน

นายศุภเสฏฐ์กล่าวว่า จากการสำรวจโรงเรียนเอกชนว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่พบว่าโรงเรียนเจอปัญหาผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอม โดยตัวเลขรวม ๆ แล้วน่าจะอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาท ที่ผ่านมาโรงเรียนทุกแห่งก็พยายามบริหารจัดการเรื่องนี้

เช่น ให้ผู้ปกครองจ่ายค่าเทอมครึ่งหนึ่ง บางแห่งถึงกับยกค่าเทอมให้ ปัญหาที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ครูอาจได้เงินเดือนไม่เต็ม แต่โรงเรียนต้องพยายามรักษาตนเองให้รอด บางแห่งต้องหาแหล่งเงินกู้ แม้ที่ผ่านมา สช.จะให้โรงเรียนเอกชนยื่นกู้กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท แต่บางโรงเรียนก็ไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้

“ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด รัฐบาลไม่ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนเลย ที่ผ่านมาจะช่วยเหลือผู้ปกครอง เช่น คณะรัฐมนตรีมีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาสังกัด ศธ. และนอก ศธ. ทั้งรัฐและเอกชน ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.6 และอาชีวศึกษาทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท ผู้ปกครองได้รับเงิน บางคนเอาไปจ่ายเป็นค่าเทอมให้โรงเรียน แต่บางคนนำไปใช้จ่ายส่วนตัว ขณะที่โรงเรียนเอกชนไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย

อีกทั้งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนเรียกร้องขอเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันนักเรียนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยได้รับอนุมัติ ขณะที่นักเรียนต่างชาติที่เรียนในโรงเรียนรัฐกลับได้รับเงินอุดหนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากถามว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเคยช่วยเหลืออะไรโรงเรียนเอกชนบ้าง อยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำความเข้าใจว่า โรงเรียนเอกชนช่วยจัดการศึกษาให้กับประเทศ และรัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนด้วย”