จี้โรงเรียนย่านอ่อนนุช เยียวยาผู้ปกครอง หลังแจ้งปิดกิจการกะทันหัน

มณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)
มณฑล ภาคสุวรรณ์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่อนุญาตโรงเรียนเอกชน ย่านอ่อนนุช ปิดกิจการกะทันหัน แต่ประเมินเบื้องต้น โรงเรียนไม่มีศักยภาพที่จะสอนต่อได้ จี้เยียวยาความเดือดร้อนผู้ปกครอง-นักเรียนด่วน

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า กรณีกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านออนนุช ยืนหนังสือร้องเรียน หลังโรงเรียนแจ้งปิดกิจการกะทันหัน ล่วงหน้าเพียง 14 วัน ทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบ ไม่สามารถหาที่เรียนให้บุตรหลานได้ทัน พร้อมกับเรียกร้องให้โรงเรียนเยียวยาค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มเติมนั้น

กรณีนี้ ต้องแจ้งว่าการยกเลิกกิจการกะทันหันของโรงเรียนแห่งนี้ ไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ว่าโรงเรียนจะต้องแจ้งเลิกกิจการให้ผู้ปกครองรับทราบล่วงหน้า 120 วัน ก่อนวันสิ้นปีการศึกษา

ซึ่งเรื่องนี้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้กำชับว่าต้องหาที่เรียนให้กับเด็ก จะต้องไม่มีเด็กตกค้าง ส่วนการอนุญาตให้ปิดกิจการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ยังไม่อนุญาตให้ปิด แต่เท่าที่ประเมินขณะนี้โรงเรียนไม่มีศักยภาพที่จะเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน

ดังนั้น ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการส่งต่อผู้เรียน โดย สช.ได้เปิดช่องทางให้ผู้ปกครองแจ้งความประสงค์โดยผ่านทาง Google Form ซึ่งมีผู้ปกครองแจ้งมาแล้ว 118 คน โดยแสดงความประสงค์จะไปเรียนในโรงเรียนต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ทั้งสังกัด สช. กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง สช.มีหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนให้พิจารณารับเด็กจากโรงเรียนี้ เป็นกรณีพิเศษ

นายมณฑลกล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน สช. จะส่งหนังสือไปถึงโรงเรียนที่ปิดกิจการ เพื่อให้พิจารณาบรรเทาความเดือนร้อนตามที่ผู้ปกครองแจ้ง โดยขอให้พิจารณาความเดือดร้อนของผู้ปกครองอย่างรอบด้าน จากการพูดคุยกับผู้แทนผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียน ทาง สช.ได้กำชับในหลายเรื่อง

โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ปกครองกรณีโรงเรียนเลิกกิจการ เช่น ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนปรับพื้นฐาน ค่าเรียนซัมเมอร์ และให้ทางโรงเรียนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจนว่า ที่ได้ประกาศไปว่าจะปิดทำการวันที่ 3 มีนาคม 2566 นั้น ไม่ใช่ปิดในทันที แต่โรงเรียนมีภารกิจในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับเด็กและผู้ปกครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เอกสาร หลักฐานการศึกษาๆ ต่อไป

ส่วนกรณีที่มีนักเรียนค้างค่าเทอม จนผู้ปกครองเกรงว่าจะเป็นเหตุผลทำให้ไม่ได้เข้าสอบปลายภาคนั้น ทางสช. ได้กำชับไปแล้วว่าเด็กทุกคนต้องได้เข้าสอบ และต้องได้รับหลักฐานการศึกษาอย่างครบถ้วนทุกคน เพราะเรื่องค่าเทอมเป็นเรื่องของผู้ปกครองไม่เกี่ยวกับเด็ก กรณีที่เด็กยังหาที่เรียนไม่ได้จริงๆ สามารถยื่นเรื่องที่โรงเรียน หรือที่ สช. เพื่อที่จะดูแลหาที่เรียนให้เด็กต่อไป

“พร้อมกันนี้ให้โรงเรียนไปสำรวจเด็กที่มีทั้งหมดว่ามีกี่คน ไปเรียนที่ไหนบ้าง กรณีที่เด็กยังหาที่เรียนไม่ได้จริงๆ สามารถยื่นเรื่องที่โรงเรียน หรือที่ สช. เพื่อที่จะดูแลหาที่เรียนให้เด็กต่อไป ทั้งนี้โรงเรียนต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับครูตามที่กฎหมายกำหนด” นายมณฑลกล่าว