ย้อนตำนานปิด ม.เอเชียน ก่อนที่ดินผืนงามถูกประมูลหลักพันล้าน

ม.เอเชียน

ย้อนตำนาน ม.เอเชียน เลิกกิจการหลังเปิดสอนมากว่า 19 ปี ก่อนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะประมูลที่ดินผืนงามใจกลาง EEC หลักพันล้านบาท

วันที่ 8 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก บริษัท ควอลิตี้ อ๊อกชั่น จำกัด (QA) ได้การประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมหาวิทยาลัยเอเชียน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื้อที่ 410 ไร่ โดยบริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ได้ทำการประเมินราคา ณ วันที่ 26 มกราคม 2566 ไว้ที่ราคา 1,139,570,000 บาท ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากแวดวงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

เพราะเป็นที่ดินผืนงามใจกลางเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ติดทางสาธารณประโยชน์แยกจากถนนสายสัตหีบ-ฉะเชิงเทรา และตามผังเมืองจัดอยู่ในเขตสีส้มประเภทชุมชนเมืองด้วย ทำให้ที่แปลงนี้เหมาะสำหรับการพัฒนาทำโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ

โดยการประมูลจะเริ่มประมูลราคาแบบไม่มีราคาขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้สนใจจะซื้อกำหนดได้ สามารถกรอกแบบฟอร์มและยื่นซองประมูลราคาในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00-15.00 น. ณ ที่ทำการสำนักงาน บริษัท อิมพีเรียล เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ปิดตำนาน ม.เอเชียน

มหาวิทยาลัยเอเชียน เดิมชื่อมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มี ดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา อดีตนักเรียนเก่าอังกฤษ เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2536 และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนแรก โดยการลงนามในเอกสารความร่วมมือระหว่างลอร์ด โรนัลด์ ออกซเบิร์ก อธิการบดีแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการแพทย์ อิมพีเรียล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งประธานสภามหาวิทยาลัย

มีวัตถุประสงค์สร้างมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพการสอนเทียบเท่ากับในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญต้องพูดภาษาอังกฤษเก่งเหมือนเรียนจบจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เป็นต้นมา ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี บริหารธุรกิจบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต และศิลปศาสตรบัณฑิต ทุกหลักสูตรสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมีคณาจารย์ไทยและต่างชาติวุฒิปริญญาเอกหรือเทียบเท่าจากประเทศอังกฤษ แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ต่อมาในปี 2558 บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และมีการเพิ่มทุนฟื้นฟูมูลค่า 400 ล้านบาท โดยมีบริษัท ไอทีเอ็มเอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก เป็นเจ้าของผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้ง มี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย และมี ศ.ดร.วิลาศ วูวงศ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย พร้อมกับมีการปรับหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นระบุค่าหน่วยกิต 200,000 บาทต่อปี ค่าหอพักและค่าครองชีพ 100,000 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม 2 ปีต่อมา สภามหาวิทยาลัยเอเชียนได้แจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ประเทศไทย) หรือ สกอ. ขอเลิกดําเนินกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียนหลังเปิดทำการเรียนการสอนมานานกว่า 19 ปี

ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษาในการประชุมครั้งที่ 8/2560 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 พิจารณาแล้วเห็นชอบให้คําแนะนํารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคําสั่งให้เลิกกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียนได้ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546

และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคําแนะนําของคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงมีคําสั่งให้เลิกกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สั่ง ณ วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560 ลงชื่อ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลานั้น