
เปิดรายได้ทันตแพทย์ แต่ละเดือนได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 4-8 หมื่นบาท จบแล้วไม่เป็นหมอ แต่ขายเครื่องมือทันตกรรม รับเฉลี่ย 1-2 แสนบาท/เดือน มหาวิทยาลัย 18 แห่งเปิดหลักสูตรผ่านการรับรองจากทันตแพทยสภา
วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันตแพทย์ หรือหมอฟัน เป็นอาชีพทางการแพทย์ ที่ช่วยรักษาเกี่ยวกับสุขภาพภายในช่องปาก ตั้งแต่ฟัน เหงือก กระพุ้งแก้ม และอื่น ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความต้องการตัวสูง และมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งบางกอกสไมล์ เดนทัล กรุ๊ป รายงานไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาลของไทยถูกกว่าในประเทศต่าง ๆ เกือบ 3 เท่า อาทิ สิงคโปร์, จีน, ออสเตรเลีย ฯลฯ โดยเทียบค่าบริการทันตกรรมในต่างประเทศ 1,000,000 บาท สามารถใช้บริการในไทยได้ในราคา 300,000 บาท
ทั้งนี้ ก่อนจะเป็นทันตแพทย์ได้ต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพก่อน ซึ่งเส้นทางสู่อาชีพคือต้องเริ่มจากการเรียนในสายวิทย์-คณิต และเข้าเรียนด้านทันตแพทยศาสตร์ ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ต้องได้รับการรับรองก่อน ผู้เรียนจึงจะมีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพหลังเรียนจบ
ล่าสุดทันตแพทยสภา ประกาศรายชื่อสถาบันที่หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ที่ผ่านการรับรองปี 2566 ซึ่งการรับรองปริญญา และหลักสูตรสำคัญมาก เพราะผู้ที่จะสมัครสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมได้ จะต้องเรียนจบจากสถาบันที่หลักสูตรผ่านการรับรองเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า หากใครเข้าเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะหมดสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพ และจะไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
สำหรับข้อมูลนี้ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 18 สถาบัน 20 หลักสูตร บางสถาบันมีหลักสูตรปกติ/นานาชาติ ดังนี้
เรียนทันตแพทย์ได้ที่ไหนบ้าง
1.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2566-2572
2.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- หลักสูตรปกติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2562-2569
- หลักสูตรนานาชาติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2565-2572
3.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2565-2572
4.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรองปี 2562-2569
5.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2561-2568
6.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2562-2569
7.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- หลักสูตรปกติ ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571
- หลักสูตรทวิภาษา ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571
8.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2561-2568
9.วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572
10.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2566
11.สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2564-2571
12.สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572
13.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2572
14.วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567
15.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567
16.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2565-2566
17.คณะทันตแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2567
18.คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
- ปีที่เริ่มต้นในการรับรอง 2566-2568
ทั้งนี้ แต่ละหลักสูตรจะได้รับระยะเวลาการรับรองไม่เหมือนกัน โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรอง 7 ปีคือเป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองปกติ ส่วนสถาบันที่ได้รับการรับรอง 1 ปี คือได้รับการรับรองแบบมีเงื่อนไข มักจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะต้องมีการส่งข้อมูลเพื่อรับรองอย่างต่อเนื่อง
ทันตแพทย์มี 12 สาขาเฉพาะทาง
ในการเรียนทันตแพทยศาสตร์ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลจะต้องทำงานใช้ทุนคืน เช่นเดียวกับเรียนคณะแพทยศาสตร์ เนื่องจากการเรียนการสอนใช้งบประมาณสูงเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ต้องใช้ทุน ซึ่งหลังจากใช้ทุนครบ ทันตแพทย์ทุกคนก็สามารถไปทำงานตามคลินิก โรงพยาบาล เปิดคลินิกของตัวเอง หรือเรียนต่อเฉพาะทางตามปกติได้เลย โดยสายงานทันตแพทย์แบ่งออกได้ 12 สาขาเฉพาะทาง ได้แก่
-
- สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
- สาขาปริทันตวิทยา
- สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
- สาขาทันตกรรมจัดฟัน
- สาขาทันตกรรมประดิษฐ์
- สาขาทันตสาธารณสุข
- สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
- สาขาทันตกรรมหัตถการ
- สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก
- สาขาทันตกรรมทั่วไป
- สาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า
- สาขานิติทันตวิทยา
ปี’66 ทันตแพทย์จบการศึกษา 624 คน
ข้อมูลจากทันตแพทยสภา แต่ละปีมีทันตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมเฉลี่ยที่ 500-600 คน แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมากขึ้นโดยปี 2564 อยู่ที่ 806 คน ปี 2565 มี 875 คน ขณะที่ปีล่าสุด 2566 มี 624 คน (ข้อมูลอัพเดทเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566)
เรียนจบทำอาชีพอะไรได้บ้าง ?
จากข้อมูลมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นระบุว่า ถ้าเป็นทันตแพทย์ในโรงพยาบาล อนามัย หรือคลินิกทั้งของรัฐและเอกชนมีเวลาเข้างาน และเลิกงานเหมือนกับงานราชการ ไม่ค่อยมีการทำงานล่วงเวลา ลักษณะการทำงานขึ้นอยู่กับคนไข้ที่เข้ามาทำการรักษา และให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพช่องปากกับคนไข้ งานทันตแพทย์ในโรงพยาบาลจะเจอคนไข้มากกว่าคลินิก
นอกจากนั้นยังสามารถเป็นอาจารย์สอนและวิจัยในคณะทันตแพทยศาสตร์ สอนนักศึกษาทันตแพทย์ให้จบมาเป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ แต่การจะมาเป็นอาจารย์สอนได้ต้องจบอย่างน้อยปริญญาโท และต้องทำวิจัยด้วย
หรือจะเป็นผู้จำหน่ายเครื่องมือทันตแพทย์ ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องมือทันตแพทย์ และมีหน้าที่ออกไปพบลูกค้า ให้ข้อมูลที่ตัวเองดูแลกับทันตแพทย์ผู้ใช้เครื่องมือและผลิตภัณฑ์
ทำงานด้านวิจัยในปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและโรคในช่องปาก ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโรคและสุขภาพช่องปาก ศึกษา ค้นคว้า เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ศึกษา ทำการทดสอบ ต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ ให้งอกงามเป็นองค์ความรู้ใหม่
ประกอบอาชีพอิสระในการตั้งคลินิกรักษาหรือโรงพยาบาลเอกชน ถ้าใช้ทุนหมดแล้วสามารถเปิดคลินิกอิสระหรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชนได้
เงินเดือน ค่าตอบแทน ทันตแพทย์
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นระบุอีกว่า ทันตแพทย์ จะมีรายได้อยู่หลายช่องทาง รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 40,000-80,000 บาทหรือมากกว่าเมื่อเรียนต่อเฉพาะทาง รายละเอียดดังนี้
- ฐานเงินเดือน ในโรงพยาบาลรัฐประมาณ 18,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนประมาณ 22,000 บาทขึ้นไป
- ค่าใบประกอบวิชาชีพ 5,000 บาท หมายความว่า ทุกคนที่มีใบประกอบวิชาชีพทันตแพทย์ จะได้รับเงินเพิ่มอีก 5,000 บาท แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่สามารถทำงานได้
- ค่าเบี้ยเลี้ยง กรณีประจำในพื้นที่ที่ทุรกันดารมากก็จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยง เริ่มที่ 10,000-20,000 บาท ยิ่งทุรกันดารมาก ก็จะได้เพิ่มมากขึ้น
- ค่าไม่ทำเวชปฏิบัติ ในระหว่างที่ทำการใช้ทุน ถ้าไม่ได้ไปทำงานให้กับคลินิกเอกชนจะได้เงิน 10,000 บาท
- ค่าทำงานล่วงเวลา ในบางกรณี หากต้องรับเคสคนไข้เพิ่ม หรือมีเคสคนไข้ฉุกเฉินเข้ามา จะได้รับเงินเพิ่ม วันละ 500 บาทขึ้นไป
หากทำคลินิก ค่าตอบแทนคิดเป็น 50% ของการรักษา ถ้าเป็นผู้ขายเครื่องมือทันตแพทย์ เงินเดือนทั่วไปประมาณ 15,000-25,000 บาท สามารถเบิกค่าน้ำมันได้ทั้งหมด ทั้งนี้ยังมีค่าคอมมิชชั่นประมาณ 100,000-200,000 บาท (ตามยอดขาย มีทั้งรายบุคคล เป็นทีม)
อย่างไรก็ตามยอดรายได้ต่าง ๆ เป็นการประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระบบโครงสร้างแต่ละองค์กร