เปิด 4 โมเดลปฏิรูปการศึกษา ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0

ในวันที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะหาทางออกด้านการศึกษา ทางเดียวกัน มีหลายภาคส่วนต่างนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI (Thailand Development Research Institute) จัดเสวนา “Reform Showcase : การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0” โดยมีวิทยากรต่าง ๆ อาทิ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP), มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา, เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University และกองทุน 500 Tuk Tuks รวมถึง ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส TDRI

ขับเคลื่อนด้วยภาคประชาสังคม

เริ่มต้นด้วยแนวทางการปฏิรูปการศึกษาผ่าน social movement ซึ่ง “ทพ.กฤษดา” ฉายภาพว่า ตลอด 3 ปีผ่านมา ตนพูดคุยกับหลายกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน นักวิชาการในมหาวิทยาลัย หรือคนที่ทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงเครือข่ายผู้ปกครอง พบว่าการพยายามผลักดันการศึกษาจากบนลงล่าง (top-down approach) ไม่เคยได้ผล หรือมีนโยบายหลักออกมา แต่ผลลัพธ์ไม่เกิด เห็นได้จากนโยบายสนับสนุนการเรียนใกล้บ้าน ปรากฏว่าผู้ปกครองต่างย้ายทะเบียนบ้าน เพราะไม่เชื่อว่าโรงเรียนใกล้บ้านจะมอบการศึกษาที่ดีให้กับลูกเทียบเท่าโรงเรียนในเมือง

“นโยบายไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง หากผู้ปกครอง นักเรียน และครู ไม่เชื่อ เราจึงจัดตั้งเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย เพราะมองว่าการศึกษาไทยควรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (bottom-up approach) ด้วยพลังของภาคประชาสังคม พร้อมด้วยการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชน ตอนนี้มี 21 องค์กรที่ทำงานกับเรา ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สภาหอการค้าไทย และโรงเรียนต่าง ๆ”

“ทพ.กฤษดา” มองว่า ตอนนี้การศึกษาไทยกำลังถูก disrupt จากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง สถาบันอุดมศึกษาจึงมีการยุบหลักสูตร หรือปิดภาควิชา ซึ่งด้วย ecosystem ที่เปลี่ยนแปลง และมีการให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากภาคเอกชนปรับรูปแบบการรับพนักงานโดยยึดทักษะเป็นที่ตั้ง และรับเด็กที่สามารถทำงานได้เลยเข้าองค์กร จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับการศึกษาไทย

ขยายผล Partnership School

ขณะที่ “มีชัย” ชูนโยบาย partnership school ซึ่งเริ่มจากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่มีการจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน พัฒนานักเรียนให้มีทักษะชีวิต และให้เขาเป็นผู้สร้างกฎระเบียบในโรงเรียน พร้อมมีส่วนร่วมในการคัดเลือกครู แล้วจ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดี

รูปแบบดังกล่าวเป็นต้นทางของแนวคิด public school ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น partnership school ซึ่งโรงเรียนจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา รวมถึงมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาร่วมสอน

“โมเดลนี้เป็นเหมือนการกระจายอำนาจให้กลุ่มบุคคลที่พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน แนวคิดนี้ได้รับการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งต้องการขยายผลให้ได้ 70 โรงเรียน โดยจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากร และหลักสูตรวิชาการ ขณะเดียวกัน มีการกำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงคัดเลือกองค์กรเอกชนร่วมสนับสนุน ซึ่งเขาสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า”

หนุนสร้างสังคมการเรียนรู้

ในฐานะผู้สร้างปรากฏการณ์ให้วงการสตาร์ตอัพของไทย “เรืองโรจน์” ได้ก่อตั้งโครงการ Education Disruption & EdTech Hackathon ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีและนักการศึกษา เพื่อ disrupt การศึกษาไทย และเป็นการสร้าง community ของ EdTech Startup เพื่อนำไปสู่การผลิตเทคโนโลยี หรือโมเดลธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งเขามองว่าเทคโนโลยีสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้

“ต่างประเทศมีการสร้าง learning community ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้จากคนอื่น คือมีการช่วยกันแชร์บทเรียนระหว่างกลุ่มครู และมีเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของครู ดังนั้น ในไทยน่าจะมี learning community เพื่อสร้าง ecosystem ที่นำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน โดยสามารถดำเนินการได้ทั้งกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เช่น กลุ่มผู้ปกครองอาจมีการพูดคุยปรึกษากัน และเข้ามาช่วยเติมเต็มด้านการเรียนให้กับลูกได้”

ทั้งนั้น ระบบการศึกษาในอนาคตจะสร้างทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ รวมถึงห้องเรียนในอนาคตที่จะเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล และควรถูกกำหนดโดยนักเรียนซึ่งเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคต

พัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สำหรับ TDRI มีการเสนอให้มีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Reform Sandbox เพื่อขยายผลโรงเรียนดี และสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาในพื้นที่จริง โดย

“ศุภณัฏฐ์” ให้ข้อมูลว่า แนวคิดนี้เป็นผลมาจากการปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี 2542 ซึ่งขณะนั้นเกิดการปฏิรูประดับโรงเรียน ยกตัวอย่างการเกิดโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนทอสี โรงเรียนรุ่งอรุณ กระนั้น ไม่ได้ถูกขยายผลหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่โรงเรียนทั่วไป หรือมีการขยายผลจากการสั่งการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

โมเดลที่ TDRI วางไว้คือ โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะมีอิสระด้านการบริหาร และได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดนวัตกรรมด้านการสอนต่าง ๆ ตามบริบทของตน ขณะที่ฝ่ายบริหารในพื้นที่นี้สามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัว โดยสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผล และอื่น ๆ

“Education Reform Sandbox เป็นการย่อส่วนการปฏิรูปส่วนกลางมาสู่ปฏิรูประดับพื้นที่ ทำให้โรงเรียนในพื้นที่มีอิสระในการจัดการเรียนการสอน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้อำนวยการเรียน โดยอาจดึงภาคีต่าง ๆ มาช่วยโรงเรียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

สิ่งเหล่านี้เป็นโมเดลสำคัญที่อาจช่วยฝ่าทางตันให้กับการศึกษาไทย จนนำไปสู่การตอบโจทย์การศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21