“ไม่ได้ยกเลิก” ใส่เครื่องแบบนักเรียน แค่ผ่อนผัน แต่งตามความจำเป็น

ชุดนักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการมีการประกาศ “ยกเว้นหรือผ่อนผัน” การแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง แต่ไม่ได้ยกเลิก ซึ่งคำว่า ยกเลิก-ยกเว้น มีความหมายแตกต่างกัน

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการประกาศ “ยกเว้นหรือผ่อนผัน” การแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 โดยมีหนังสือแจ้งถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด/ในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ ระบุข้อมูลว่า

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งเน้นการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง สู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ให้ทุกหน่วยนำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและปฏิบัติราชการนั้น

เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง จึงให้ทุกหน่วยแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดพิจารณา “ยกเว้นหรือผ่อนผัน” การแต่งเครื่องแบบและรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่น โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม แล้วรายงานผลการดำเนินการ พร้อมข้อมูลนักเรียนที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ (ผ่านสำนักงานรัฐมนตรี)

อย่างไรก็ตาม ได้เกิด “ความเข้าใจผิดในวงกว้าง” ว่าจะยกเลิกการใส่เครื่องแบบนักเรียน และมีผู้โพสต์ข้อมูลในเฟซบุ๊กและแชร์ต่อ ๆ กันว่า กระทรวงศึกษาธิการ สั่งประกาศให้ยกเลิกแต่งชุดนักเรียน ทั้งนี้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การยกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง จึงแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดพิจารณายกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบและรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่น โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม แล้วรายงานผลการดำเนินการพร้อมข้อมูลนักเรียนที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ขอย้ำว่าเป็นการยกเว้นหรือผ่อนผัน พิจารณาเป็นรายไปตามความเหมาะสม พร้อมรายงาน รมว.ศธ. ทราบด้วย “ไม่ใช่การสั่งยกเลิกชุดนักเรียน” เนื่องจากเริ่มมีเพจออนไลน์บางเพจตั้งใจสื่อสารว่า กระทรวงยกเลิกชุดนักเรียน ซึ่งคำว่า ยกเลิก กับ ยกเว้น มีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

  • ยกเว้นการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง พิจารณาแล้วว่าเด็กมีความจำเป็นเรื่องการหาชุดนักเรียนตามระเบียบมาใส่ อาจยกเว้นไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน โดยใส่ชุดอื่นที่เหมาะสม เช่น ชุดพละ หรือชุดที่มีอยู่ไปก่อน เมื่อจัดหาชุดนักเรียนได้แล้วก็ใส่ชุดนักเรียนตามปกติ
  • ยกเลิกการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง ทุกคนในประเทศไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน เครื่องแบบนักเรียนจะไม่มีอีกต่อไป

ซึ่งการออกหนังสือของ ศธ. มีวัตถุประสงค์ให้ยกเว้นหรือผ่อนผัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง กรณีแบบนี้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตัดสินใจได้เอง แต่ทางส่วนกลางก็ออกหนังสือเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารสถานศึกษาให้ดำเนินการได้ในแนวทางเดียวกัน

ADVERTISMENT