Data Tech Academy สร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ตอบโจทย์ยุค fast data

จากยุคดิจิทัลที่มีปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ไหลเวียนอยู่บนโลกออนไลน์ และมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้การดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการองค์กร ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี องค์กรภาครัฐและเอกชน ต้องมีแพลตฟอร์มบริหารการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะหากองค์กรใดในยุคดิจิทัลมีความสามารถในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล big data ที่มีความหลากหลายได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ก็จะสามารถเข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาด สามารถออกแบบสินค้าและบริการที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบัน Data Tech Academy มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความต้องการบุคลากรคุณภาพด้าน Data Science (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) จึงร่วมมือกับวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และเว็บไซต์ NextEmpire ผู้นำเสนอเทรนด์ ธุรกิจ นวัตกรรม เปิดตัวหลักสูตรสร้างอาชีพ Data Scientist และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการสอนและการปฏิบัติจริงมาสอนหลักสูตรนี้

ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกร

“ผศ.ดร.วรภัทร ไพรีเกรง” ผู้อำนวยการสถาบัน Data Tech Academy กล่าวว่า แนวคิดหลักของ Data Tech Academy เป็นลักษณะของการจัดการเรื่องของข้อมูล เปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ ถ้ามีข้อมูลในองค์กรแต่ไม่มีการบริหารจัดการ หรือไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลมาสร้างคุณค่าทางธุรกิจได้ยังไง ธุรกิจก็จะเสียโอกาสและไม่สามารถก้าวตามทันคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับตัว และไม่ใช่การปรับตัวทั่ว ๆ ไป แต่ต้องเป็นการปรับตัวแบบรวดเร็วเพื่อให้ทันกับจำนวนข้อมูลมหาศาลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

“ในอนาคตอันใกล้นี้ big data จะกลายเป็น fast data ในที่สุด เพราะการเกิดขึ้นของข้อมูลได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 2 เท่าในทุก ๆ 1.2 ปี และจากงานค้นคว้าของ Glassdoor 2017 พบว่าอาชีพที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดทั่วโลกคือ data scientist แต่ในระดับโลกมีคนทำอาชีพ data scientist ราว 111,995 คนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ที่มีความสามารถในการทำอาชีพนี้เพียง 338 คน ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จบหลักสูตรนี้มาโดยตรง แต่อาศัยประสบการณ์จนสามารถทำงานในสายอาชีพนี้ได้ ซึ่งค่าตอบแทนของตำแหน่งนี้สูงมากเป็นอันดับ 16 ของโลก โดยค่าเฉลี่ยของเงินเดือนอาชีพนี้เท่ากับ 110,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (เริ่มต้นเงินเดือนที่ 52,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ)”

data scientist คือผู้ทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลที่มาจากหลากหลายช่องทาง อาทิ อีเมล์, ไฟล์เอกสารต่าง ๆ, ภาพถ่าย, วีดีโอ, ไฟล์เสียง, การโพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย จากนั้นนำมาศึกษา คิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล ทำการเก็บและเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์องค์กร และใช้ตัดสินใจด้านต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้อาชีพนี้กำลังเป็นอาชีพที่มีความต้องการขององค์กรไม่ว่าจะภาครัฐ และเอกชนเป็นอย่างมาก

ณ ตอนนี้เรายังขาดบุคลากรที่เก่งในเรื่อง data science องค์กรส่วนใหญ่จึงใช้วิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงานนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วคนไทยมีความสามารถ เพียงแต่ต้องเพิ่มองค์ความรู้ที่ตรงศาสตร์มากขึ้น ถ้าเราสามารถเพิ่มจำนวนของบุคลากรกลุ่มนี้ได้เราก็จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และตลาดกลุ่มนี้ได้รวดเร็วมากขึ้น

“ผศ.ดร.วรภัทร” อธิบายต่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้เพื่อเป็น data science ได้ โดยรูปแบบการเรียนการสอนของเราจะเริ่มต้นจากขั้นพื้นฐาน วิธีคิดอย่างเป็นระบบ ผ่านทางบทเรียนในห้องเรียนและการเวิร์คชอป การประชุมเชิงปฏิบัติการ เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะการทำงาน พร้อมรับฟังข้อคิดและประสบการณ์ตรงจากวิทยากรรับเชิญจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทย

“หลักสูตรของเราจะเป็นระยะสั้น เพราะต้องการพัฒนาบุคลากรให้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นเรื่องการ re-skill เป็นการปรับปรุงและเพิ่มองค์ความรู้ จุดประสงค์หลักของเราคือต้องการสร้าง professional learning community ซึ่งในไทยก็ยังขาดแคลนการรวมตัวลักษณะนี้อยู่ และขาดการนำความรู้ในภาคการศึกษากับองค์ความรู้ทางด้านภาคอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ถ้าเรานำสองเรื่องนี้มาผสมผสานกันได้ก็จะรวมกันกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น เวลามีปัญหาก็จะมีผู้เชี่ยวชาญค่อยชี้แนะแนวทางและให้คำปรึกษา เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

โดย 4 หลักสูตรแรกที่จะเปิดประกอบด้วย

● หลักสูตร Road to Data Science : เข้าใจเทรนด์และทักษะที่ต้องการของ data science ในอนาคต จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ พร้อมยกระดับไปสู่ data-driven enterprise และเข้าถึงปัญหาจริงทางธุรกิจผ่าน problem-Solving เวิร์คช็อป ค่าใช่จ่าย 16,900 บาท

● หลักสูตร AI Technology for Intelligent Business : เข้าใจส่วนประกอบและเทคนิคที่สำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) ผ่านการพัฒนาจริงเพื่อที่นำไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช่จ่าย 16,900 บาท

● หลักสูตร Data Management for Growth : ลงลึกด้านการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนของธุรกิจผ่านการดูแลอย่างเป็นระบบ เพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริงในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช่จ่าย 44,900 บาท

● หลักสูตร Blockchain and Smart Contract : เข้าใจ Blockchain และการนำไปประยุกต์ใช้ในแบบต่างๆในโลกธุรกิจปัจจุบัน เช่น สกุลเงินดิจิตอล สัญญาอัจฉริยะ เป็นต้น ผ่านจากการพัฒนาจริงบนแพลตฟอร์มมาตรฐาน ค่าใช่จ่าย 24,900 บาท

โดยทั้ง 4 หลักสูตรเปิดรับสมัครแล้วสำหรับนักเรียนรุ่นแรก ผู้ที่สนใจสมัครเรียน สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/datatechacademy