“ออนไลน์” ห้องเรียนอนาคต จุฬาฯขนหลักสูตรใหม่บุกตลาด

"ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ"ผุู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเรียนผ่านออนไลน์ เป็นกระแสที่ปรากฏชัดเจนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากหลายมหาวิทยาลัยนำร่องทดลองเรียนออนไลน์ฟรี หรือ “MOOC” (massive open online) ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป และนักศึกษาเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการพัฒนาการเรียนออนไลน์แบบ “ไม่ฟรี” และล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำตลาดหลักสูตรออนไลน์จริงจังมากขึ้น เพิ่มหลักสูตรใหม่ดึงดูดวัยทำงานที่ต้องการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น

หลักสูตรออนไลน์ของจุฬาฯเป็นอย่างไรนั้น “ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ”ผุู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ ระบุว่า นโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ต้องการให้มหาวิทยาลัยในประเทศปรับหลักสูตรเป็น “nondegree”หรือใบประกาศนียบัตรมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป อีกทั้งจุฬาฯได้พัฒนาระบบและรูปแบบ (platform) ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มเปิดคอร์สสำหรับประชาชนทั่วไป

แต่ไม่ได้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกลุ่มคนทำงานมากนัก อีกทั้งในช่วงที่ทำหลักสูตร MOOC ก็โฟกัสไปที่การศึกษาตลอดชีวิต (life long learning) เพื่อให้คนได้ศึกษาหาความรู้แบบไม่มีกำแพงกั้น และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อเริ่มดำเนินการไปแล้วจึงเห็นจุดเด่น และมองว่าหากมาพัฒนาการเรียนการสอนแบบนี้ น่าจะตอบโจทย์นโยบายในการ “สร้างทักษะ” เดิมให้ใช้ได้กับโลกปัจจุบัน (upskill) ด้วยการ “เพิ่มทักษะ” (reskill) เข้าไป

ดังนั้น จุดเด่นของหลักสูตรออนไลน์ คือ การ “ไม่ผูกติด” กับการเรียนในชั้นเรียนอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ซึ่งหลักสูตรออนไลน์ได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนาคนในองค์กรโดยไม่ต้องจัดอบรมสัมมนาที่ต้องใช้เวลา ในขณะที่เรียนออนไลน์เลือกได้ตามความสะดวกของผู้เรียน

“สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนในช่วงเริ่มต้นของการเรียนออนไลน์ คือ ผู้เรียนยัง”ไม่มั่นใจ” ในหลักสูตร เพราะการเรียนออนไลน์ขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในระหว่างพัฒนา และปรับรายละเอียดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และตั้งต้นจากรายวิชาที่สามารถทำได้แน่นอนก่อน หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ทยอยเพิ่มหลักสูตรออนไลน์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรออนไลน์ที่จุฬาฯเริ่มดำเนินไปแล้ว เพื่อพาผู้เรียนไปให้ถึงจุดหมาย คือ 1) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science pathway) พัฒนาทักษะก้าวทันโลกแห่งข้อมูลและดิจิทัล ใช้เวลาเรียนประมาณ 30 ชั่วโมง ประกอบด้วย 4 รายวิชาที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย แต่ละเอียดและลึกมากขึ้น 2) ทักษะการนำเสนอ เล่าเรื่องเพื่อจูงใจคน (presentation and negotiation) เพื่อให้ผู้ฟังสนใจเรื่องราวที่กำลังนำเสนอ และล่าสุด 3) ทักษะด้านการเขียนโปรแกรม (thinking like programer) สร้างความเข้าใจในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างใช้คอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด ในระดับผู้บริหารจะต้องรู้ว่าคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้าง รวมถึงความคิดที่สลับซับซ้อนของระบบคืออะไรจุฬาฯจึงกำหนดอัตราค่าเรียนอยู่ที่ 5,500 บาทต่อชุดวิชา ถือว่าไม่สูงจนเกินไป และผู้สนใจเรียนเข้าถึงได้

“ทั้ง 3 หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประเภทองค์กรเอกชนที่ต้องการพัฒนาบุคลากรของตัวเองให้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลมากในขณะเดียวกันต้องพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานเพื่อรับมือกับ disruption เพราะหลายเซ็กเตอร์ได้รับผลกระทบอย่างมาก และต้องปรับตัวให้ทัน”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการศึกษาในขณะนี้ถือว่าการแข่งขันสูงมาก นักเรียนในระบบก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงต้องเพิ่มกลุ่มเป้าหมายคนวัยทำงานที่ต้องการพัฒนาตัวเองและจุฬาฯมองเห็นโอกาส และประโยชน์ของหลักสูตรรูปแบบออนไลน์ดังกล่าว

ส่วนในอนาคตจะมีโอกาสพัฒนาหลักสูตรการเรียนให้สามารถใช้รูปแบบออนไลน์ได้ 100% หรือไม่นั้น “ดร.ภัทรชาติ”บอกว่า หากมองถึงความพร้อมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะการเรียนออนไลน์ทำได้ในส่วนที่เป็นเนื้อหาวิชาการเท่านั้น แต่การฝึกฝนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่การเรียนด้วยออนไลน์ยังทำไม่ได้ ฉะนั้น จึงควรใช้แบบ “ผสมผสาน” ทั้ง 2 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ มองว่ารูปแบบการเรียนในลักษณะดังกล่าว คือ รูปแบบของมหาวิทยาลัยในอนาคต

“นี่คือวิธีการเรียนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องหาวิธีเรียนให้เหมาะสมกับยุคสมัย แม้กระทั่งการสื่อสารต่าง ๆ ก็ผ่านออนไลน์เกือบทั้งหมดแล้ว จุฬาฯจะต้องจัดการเรียนให้อยู่ในโหมดออนไลน์ให้ได้ และพร้อมที่จะส่งต่อความรู้ พร้อมทั้งพัฒนาให้สามารถสื่อสารในออนไลน์ให้ได้เสมือนการเรียนในคลาส ถือเป็นอีกองค์ประกอบที่จะต้องมองถึงอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องมี แต่ไม่ได้จะแข่งขันหรือหนีตายทางธุรกิจ แต่คือการปรับตัว”

นอกจากนี้เพื่อให้ได้หลักสูตรออนไลน์ที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนในอนาคต จุฬาฯเตรียมลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับภาคธุรกิจให้เข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เนื่องจากจุฬาฯมีจุดแข็งด้านเนื้อหาทางวิชาการ หากนำความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของภาคเอกชนมารวมกัน จะได้หลักสูตรที่ตลาดมีความต้องการจริง ๆ อีกทั้งยังได้เซตทีมเฉพาะกิจขึ้นมาพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ วางแผนการทำตลาดและการบริการลูกค้า ถือเป็น “ตลาดใหม่” ที่น่าสนใจ

“แต่จุฬาฯไม่ได้มองในแง่ของรายได้ กลับมองไปที่ความยั่งยืน และเป็นหลักสูตรที่อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง” ดร.ภัทรชาติทิ้งท้าย