จุฬาฯ เปิดตัว ศูนย์นวัตกรรมทางสังคม ขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน

(วันที่ 12 พ.ย.63) ผศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เปิดเผยว่า จุฬาฯ มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์สที่ประกอบด้วย การพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต (Future Leader) การสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพ (Impactful Research and Innovation) และการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) การเปิดตัวศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาฯ หรือ CU Social Innovation Hub จะส่งเสริมชาวจุฬาฯ ให้ริเริ่มหรือต่อยอดการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ระดมความร่วมมือจากภาคส่วนทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีด้านการวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า CU Social Innovation Hub
(CU SiHub) จะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยและเป็นพื้นที่บ่มเพาะอาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ในการนำความรู้และนวัตกรรมไปแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับเนื้อหา และ บริบทของสังคมไทย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มุ่งตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก เป็นพื้นที่ปฏิบัติการบูรณาการสหศาสตร์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมจากการวิจัยของชาวจุฬาฯ เพื่อตอบโจทย์สังคมที่ท้าทาย

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) และสำนักบริหารการวิจัย ของจุฬาฯ เช่น การบูรณาการนวัตกรรมนโยบายสังคมสูงวัย (Aging Research Innovation) การออกแบบนวัตกรรมสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม (Design for Society) การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Community and Creative Tourism) การสร้าง         แรงบันดาลใจเชิงมนุษยศาสตร์ (Art and Humanities for Sustainability) เป็นต้น โดยมี รศ.ภก.ดร.วิทยา   กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษที่ 2 ให้การสนับสนุน

ขณะที่ รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านวิจัย จุฬาฯ และดูแล CU Social Innovation Hub กล่าวว่า “CU Social Innovation Hub มีจุดหมายในการริเริ่ม บ่มเพาะ และสร้างประโยชน์สังคม เน้นการนำนวัตกรรมทางสังคมมาช่วยสังคมโดยไม่หวังผลกำไร ผสมผสานเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จุฬาฯ มีอาจารย์และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในทุกสาขา โดยเฉพาะความร่วมมือจากคณาจารย์ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีศักยภาพเป็นจำนวนมาก จึงจัดตั้งศูนย์รวมเพื่อเป็นพื้นที่ระดมความคิดและอำนวยความสะดวกในการสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาสังคม

รวมถึงเป็นศูนย์บ่มเพาะอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตรุ่นใหม่เป็นนวัตกรทางสังคม เพื่อให้นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์เป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน