ถอดความสำเร็จ “สิงคโปร์” สร้างการศึกษาที่ดีเพื่อสร้างชาติ

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับช่าว

สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีเยี่ยม ซึ่งจากผลสอบ PISA ประจำปี 2015 ปรากฏว่าสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดของทั้ง 3 วิชาที่ทำการประเมิน ได้แก่ การอ่าน, วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไรเป็นปัจจัยของความสำเร็จ และสร้างให้สิงคโปร์เป็นชาติที่มีความเข้มแข็งทางการศึกษามาอย่างยาวนาน

จากงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 10 (EDUCA 2017) ซึ่งจัดโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มี “ดร.ลิม ไล เฉิน” กรรมการบริหารสถาบันให้คำปรึกษา และฝึกอบรมแห่งมหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ และ “ศ.ดร.โล อี ลิง” ประธานเจ้าหน้าที่กำหนดและวางแผน และหัวหน้าสำนักวางแผนกลยุทธ์ และคุณภาพวิชาการ สถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางมาร่วมให้ข้อมูลถึงประเด็นดังกล่าว

ช่วงแรก “ดร.ลิม ไล เฉิน” บอกเล่าถึงนโยบายการศึกษาสิงคโปร์ว่ามีหลักการสำคัญคือ Meritocracy ระบบที่ส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ต้องใช้เส้นสาย และไม่ให้สิทธิพิเศษกับใคร เพื่อให้มีข้อได้เปรียบ

“หลักการนี้เกิดจากการมองถึงอนาคตของสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์สร้างมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งจีน, มาเลเซีย, ทมิฬ เราจึงต้องสร้างพื้นฐานให้คนมีความเสมอภาคซึ่งหากไม่มีมาตรการนี้ จะเกิดชุมชนเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ ในทางเดียวกัน เราจะไม่ให้โรงเรียนมีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งมากเกินไป เพื่อสกัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง”

อย่างไรก็ตาม ความเท่าเทียมที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของหลักการ Meritocracy ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน เพราะการแข่งขันทางการศึกษาค่อนข้างสูง แม้รูปแบบการดำเนินงานของรัฐซึ่งทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ทั้งการมีครูที่ดี และได้รับทรัพยากรที่ดี แต่เด็กบางคนอาจไม่ได้รับโอกาสทางสังคมอื่น ๆ หรือไม่ได้ร่ำรวย ทางรัฐบาลกลัวว่าจะเกิดการแบ่งแยกทางชนชั้น จึงมุ่งเน้นว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะต้องช่วยเหลือคนที่มีโอกาสน้อยกว่าด้วย

“ดร.ลิม ไล เฉิน” อธิบายเพิ่มเติมว่าการจัดทำนโยบายการศึกษาจะต้องผ่านกระบวนการ 5 ด้าน คือ 1)คิดอย่างรอบคอบ ในการออกนโยบายใด ๆ ก็ตามจะต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นนโยบายที่ดี และไม่ก่อผลกระทบในแง่ลบ 2)การปรึกษาหารือ จะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง ภาครัฐ

3)บริบท คำนึงว่านโยบายที่เคยดำเนินการก่อนหน้าอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศในปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น 4)การสื่อสาร นโยบายอาจดูดี คิดรอบคอบ แต่การสื่อสารอาจไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการสื่อสารที่ไม่ดีจะทำให้ประชาชนเข้าใจเป้าหมายของนโยบายผิด 5)ปฏิบัติตามแผน ต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างละเอียด

“เวลาพูดถึงนโยบายต้องรู้ว่าพันธกิจคืออะไร ต้องทำอย่างคงเส้นคงวา และการนำไปปรับใช้ต้องมีความสอดคล้องกันในทุกขั้นตอน โดยรัฐบาลจะมีการทบทวนนโยบายย่อย ๆ ทุก ๆ 1 ปี หรือ 5 ปี เพื่อพิจารณาดูว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นอย่างไร เด็กรู้สึกอย่างไรต่อการถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วเข้าใจระบบ Meritocracy และให้ความสำคัญกับการเท่าเทียมกันทางสังคมหรือไม่”

สำหรับในมิติของสถาบันผลิตครู “ศ.ดร.โล อี ลิง” กล่าวว่า ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้การกำหนดนโยบายด้านการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วย โดยใน

ปี 1960 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแบบทวิภาษาคือเรียนแบบสองภาษา ทั้งภาษาชาติของตัวเอง และภาษาทางการที่เป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่ในปี 1985 จะมีการกำหนดว่าคนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องมีความสามารถ 2 ภาษา

ข้อดีของการศึกษาแบบทวิภาษาคือสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษได้ทั่วโลก ทำให้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสิงคโปร์มีความก้าวหน้า ตลอดจนเป็นการเพิ่มโอกาสในการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ได้นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น เพราะจากการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างกันของความสามารถด้านภาษาและด้านวิชาการ

ในส่วนการเตรียมครูเข้าสู่ระบบการศึกษา จะมีการให้ความรู้ด้านศาสตร์การสอน และการเตรียมความพร้อมด้านวิชาชีพ โดยครูทุกคนต้องผ่านการทดสอบ EPT (Entrance Proficiency Test) ซึ่งเส้นทางการพัฒนาครูของสิงคโปร์แบ่งเป็น 3 Tracks ได้แก่ Leadership, Teaching, Specialist

กล่าวคือเป็นการเรียนเพื่อก้าวไปสู่การทำงานในกระทรวง การเป็นครูสอนในสถาบันการศึกษา และเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ทั้งนั้น การทำให้ครูเห็นเส้นทางและเป้าหมายอย่างชัดเจน จะทำให้คนรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง

“จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา และสถาบันครุศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานที่นำไปสู่การสร้างครูที่มีคุณภาพ โดยเราเห็นว่าการให้รางวัล และยกย่องครูเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการมอบรางวัลให้ด้วย อย่าง The Inspiring Teacher of English Award และ MOE Overseas English Language Teachers Study Award”

อย่างไรก็ตาม “ศ.ดร.โล อี ลิง” บอกว่าการศึกษาของสิงคโปร์ยังคงมีความท้าทาย คือครูมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษไม่เท่ากัน ด้วยความที่แต่ละครอบครัวมีลักษณะการใช้ภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน

อีกทั้งคนจบใหม่ก็มีมาตรฐานด้านภาษาอังกฤษลดลง ทางรัฐบาลจึงต้องผลักดันคนที่อยู่ระดับท้าย ๆ ให้มีความสามารถมากขึ้น

“แม้สิงคโปร์จะได้รับการจัดอันดับด้านการศึกษาในระดับต้น ๆ ก็ตาม แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไร กลับห่วงมากกว่าว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนสิงคโปร์จะเทียบเท่ากับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักหรือไม่ เราจึงเดินหน้าต่อเนื่องในการพัฒนาบรรทัดฐานด้านภาษาอังกฤษของเราให้เทียบเท่ากับระดับสากลให้ได้มากที่สุด”