RTC พลิกโฉมขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ปี’62 รุกเดินหน้า Smart Economy-

กว่า 8 เดือนที่รถเมล์ smart bus ของบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในเดือนเมษายนถึงวันนี้มีผู้ใช้บริการ 130,000 คน เฉลี่ยเดือนละ 28,000 คน เป็นตัวเลขที่ “ฐาปนา บุณยประวิตร” กรรมการผู้จัดการ RTC ค่อนข้างพอใจกับการเป็นกลไกในการเปลี่ยนเมือง และเป็นจังหวะเวลาที่ได้เข้ามาหนุนเสริมนโยบายเมืองอัจฉริยะ (smart city) พร้อมวาดแผนรุกระบบรางและเดินหน้าเชื่อมโยงโครงข่ายรถเมล์ และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญหนุนเมือง smart economy

โดย “ฐาปนา” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถโดยสารประจำทาง “RTC city bus” ให้บริการในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่มี 3 เส้นทาง คือ สาย R1 (สวนสัตว์-มช.-ห้างเมญ่า-คูเมือง-ขนส่งช้างเผือก-ร.ร.ปรินส์ฯ-เซ็นทรัลเฟสติวัล) สาย R2 (ไนท์บาซาร์-หนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ตมัธยม-ห้างพรอมเมนาดา-ตลาดหนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ตประถม-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.เรยีนาฯ) และสาย R3 (สนามบิน-นิมมานฯ-ไนท์บาซาร์) และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเปิดให้บริการสาย B4 เพิ่มเป็นรถไฟฟ้าขนาด 85 เมตร เส้นทางถนนวงแหวน (บิ๊กซี แม่เหียะ)-สนามบิน-ถนนอ้อมเมือง-เซ็นทรัลเฟสติวัล ทั้งนี้ มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อเดือน โดยเส้นทางสาย R3 สนามบินเชียงใหม่-ตลาดวโรรส มีผู้โดยสารสูงสุดร้อยละ 50 รองลงมาเป็นสาย R1 สวนสัตว์เชียงใหม่-ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ร้อยละ 40

หนุน Smart City

ฐาปนา บอกว่า ปัจจุบัน RTC ได้ร่วมเป็นเครือข่าย Chiangmai Smart City กับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป้าหมายหลักของ RTC คือ การนำระบบขนส่งมวลชนที่จะใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเมือง เพราะการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะมุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) และเพื่อเป็นการสนับสนุน smart city ของเชียงใหม่อย่างเต็มรูปแบบ RTC ได้สนับสนุนระบบบริการดิจิทัล ซึ่งได้ร่วมกับเครือข่ายบริการ ViaBus ให้บริการแอปพลิเคชั่นค้นหาตำแหน่งรถโดยสาร ประมาณการเวลามาถึงป้ายหรือจุดจอดรถ และประมาณการเวลาไปถึงจุดหมายปลายทาง

สำหรับระบบชำระเงิน RTC ได้ร่วมเครือข่ายกับบัตร Rabbit เพื่อให้บริการบัตรโดยสารดิจิทัลประเภทต่าง ๆ ทั้งบัตรนักเรียน บัตรนักท่องเที่ยวแบบวันเดียวและสามวัน บัตรผู้สูงอายุ และบัตรพริวิเลจ โดยมีจุดเติมเงินและจำหน่ายบัตรให้ผู้ใช้บริการทั้งที่สนามบิน ผู้แทนจำหน่าย 14 จุดทั่วเมืองเชียงใหม่ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 3 สาขา พร้อมด้วยศูนย์การค้าพรอมเมนาดา ปัจจุบันสัดส่วนผู้ใช้บัตรมีประมาณร้อยละ 30 ที่เหลือผู้โดยสารชำระโดยเงินสดหยอดเหรียญ และในปี 2562 RTC จะรณรงค์ให้ผู้โดยสารหันมาใช้ระบบชำระเงินแบบดิจิทัลหรือผ่านบัตร Rabbit ให้มากขึ้น หรือเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

นอกจากการพัฒนาระบบบริการบัตรโดยสารและระบบค้นหาตำแหน่งรถ เพื่อสร้างเชียงใหม่เป็นเมืองดิจิทัลแล้ว RTC ยังได้ร่วมกับโครงการ SG-ABC ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนาดใหญ่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยกำหนดให้ย่านนิมมานเหมินท์และย่านถนนห้วยแก้วเป็นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่ง RTC จะสนับสนุนให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว (Tourism Transportation Hub) โดยได้ประสานกับเครือข่ายรถขนส่งสาธารณะเมืองเชียงใหม่ให้เสริมบริการเชื่อมต่อกับรถ RTC หรือเป็นระบบฟีดเดอร์ที่ให้บริการรองแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อกระจายไปยังจุดหมายปลายทางพื้นที่ในซอยของย่านดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการประสานข้อมูลการเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดย RTC ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สายการบินนกแอร์ สายการบินอีว่าแอร์ เพื่อเปิดบริการท่องเที่ยวลักษณะ cobrand ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

วาดแผนลงทุนระบบราง

ฐาปนา ย้ำว่า แผนระยะต่อไปของ RTC จะมุ่งลงทุนระบบราง (tram) ในพื้นที่เชียงใหม่ เพราะการเติมโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบาจะเพิ่มความสะดวกในการสัญจรของผู้คนในเมืองได้มากขึ้น และตอบโจทย์ smart city ของเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2563 หาก รฟม.ประกาศเส้นทางทำรถไฟฟ้า RTC พร้อมร่วมลงทุนกับ รฟม.ในรูปแบบรัฐลงทุนส่วนก่อสร้าง 70% และเอกชนลงทุน 30% ในส่วนของตัวระบบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ ตามแผนของ RTC ที่วางไว้ยังมองถึงการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา (tram) ในความสามารถที่ทำได้เอง ในเส้นทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ห้วยแก้ว-แยกรินคำ-นิมมานฯ-สนามบิน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางนี้ถือว่ามีศักยภาพสูงสุด (high potential) มีปริมาณการเดินทางที่หนาแน่น ซึ่งการเปิดเส้นทางต้องขออนุญาต รฟม.ก่อน เพราะจะมีการทับเส้นทางหลักของ รฟม.ราวร้อยละ 60 และอีกเส้นทางที่มีศักยภาพ คือ จากกาดรวมโชค-ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล-นิมมานฯ ซึ่งมีปริมาณที่อยู่อาศัย ปริมาณรถและการสัญจรที่ค่อนข้างหนาแน่น โดยวางจุดให้ถนนนิมานเหมินท์เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของการคมนาคมของเชียงใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางในหลากหลายทางเลือก

โครงข่ายสู่ Smart Economy

ฐาปนา บอกว่า นอกจากบริการที่เกี่ยวข้องกับ smart tourism และ smart mobility แล้ว ในปี 2562 RTC จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสองข้างทาง (economic corridor) และพื้นที่รอบสถานี (TOD) ในย่านห้วยแก้ว-นิมานเหมินท์ ซึ่ง RTC ตั้งธงชัดเจนที่จะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นย่านที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ (smart economy) และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยจะเพิ่มจุดจอดและเพิ่มความเข้มข้นของโครงข่ายเส้นทางในย่านนี้ ด้วยการเพิ่มบริการรถสายสั้นเชื่อมต่อระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยการเพิ่มเส้นทางที่เป็นการเพิ่มปริมาณผู้เดินทางในย่านนิมมานฯ-ห้วยแก้วให้มากขึ้น อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจสองข้างทางให้เป็นไปตามรูปแบบการค้าปลีกผสมผสานร้านอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการเพิ่มวิถีชีวิตคนเมืองให้มากขึ้นด้วย

เป็นภาพที่ฉายชัดว่า RTC คือฟันเฟืองที่จะพลิกโฉมขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ในอนาคต พร้อมก้าวรุกขับเคลื่อน smart economy ที่จะพลิกโฉมย่านเศรษฐกิจหัวใจสำคัญของเชียงใหม่ ตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะ (smart city) ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้อย่างถูกจุดที่สุด

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code