ไทยพาณิชย์-กรุงศรี-ทูซีทูพี นำร่อง ใช้เงินบาทดิจิทัล

เงินดิจิทัล
phto : pixabay

แบงก์ชาติ เดินหน้า “บาทดิจิทัล” 3 ผู้ให้บริการทางการเงินนำร่องทดสอบใช้งาน “ชำระ-โอน” ปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า ชี้อนาคตหากเปิดใช้งานวงกว้างต้องแก้ไข พ.ร.บ.เงินตรา เพิ่ม CBDC เป็นเงินตราอีกประเภท พร้อมยืนยันไม่ได้ออกแบบระบบเพื่อการเก็บภาษีประชาชน

วันที่ 25 สิงหาคม 2565 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปลายปีนี้ ธปท.จะเริ่มทดสอบการใช้งาน “เงินบาทดิจิทัล” หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency : Retail CBDC)

โดยมี 3 ผู้ให้บริการทางการเงินนำร่องทดสอบ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ จะเป็นการทดสอบในวงจำกัด โดยทดสอบกับพนักงาน หรือร้านค้าที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ของผู้ให้บริการเหล่านี้ รวมถึงพนักงานของ ธปท. ซึ่งผู้ที่ร่วมทดสอบจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น CBDC ไว้ในโทรศัพท์มือถือ แล้วผูกกับบัญชีธนาคารของตนเองที่จะใช้จ่าย ซึ่งในแอปจะมีวอลเล็ต CBDC เพื่อเก็บเงินบาทดิจิทัลดังกล่าว

โดยการใช้จ่ายจะคล้ายกับระบบพร้อมเพย์ คือ สามารถโอนชำระเงินด้วยหมายเลขวอลเล็ต หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด ก็ได้ อย่างไรก็ดี ธปท.จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon” ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 ส.ค.-9 ก.ย.นี้

“ปัจจุบันทั่วโลกมีไม่กี่ประเทศที่เริ่มทดสอบการใช้งาน อย่างเช่น จีน เป็นต้น และมีแค่เพียง 1 ประเทศที่ใช้งานจริง เป็นประเทศหมู่เกาะแถวคาริบเบียนตะวันออก เนื่องจากเป็นเกาะทำให้การขนเงินทำได้ลำบาก ทั้งนี้ สำหรับของไทย ยืนยันว่าเราไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น” นางสาวชญาวดีกล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ยืนยันว่า ระบบ CBDC ที่ออกแบบ จะยึดตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดย ธปท. สามารถตรวจสอบได้เพียงธุรกรรมการโอน การชำระว่า เป็น CBDC จริงหรือไม่ เหมือนกับการตรวจธนบัตรว่าจริงหรือไม่ แต่จะไม่มีการตรวจสอบธุรกรรมเพื่อการอื่น อย่างเช่น การจัดเก็บภาษี เป็นต้น

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า การทดสอบระบบจะมีไปถึงกลางปี 2566 ส่วนการเริ่มนำมาใช้ในวงกว้าง ยังไม่ได้กำหนด เพราะต้องขึ้นกับผลทดสอบในวงจำกัดด้วย ทั้งนี้ หากนำมาใช้เป็นวงกว้าง ก็ต้องแก้ไขพระราชบัญญัติเงินตรา เพื่อเพิ่มประเภท CBDC หรือเงินบาทดิจิทัลให้เป็นเงินตราอีกประเภท เช่นเดียวกับ ธนบัตร และ เหรียญกษาปณ์