บล.กสิกรฯ วิเคราะห์ปมสาเหตุทำดีล SCB-บิทคับ ล้ม

บล.กสิกรไทยฯ วิเคราะห์ปมสาเหตุทำดีล “SCB-บิทคับ” ล้ม คาด SCBS ลุยลงทุนระบบเอง เชื่อ “แบรนดิ้ง-ความน่าเชื่อถือ” หนุนนักลงทุนกล้าเปิดบัญชีเทรด ลดกังวลดันราคาหุ้นตามทันกลุ่มแบงก์ใหญ่

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกรณีบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ได้ยกเลิกการลงทุนในบิทคับนั้น ต้องถือว่าไม่ได้ผิดคาดมาก เพราะเห็นสัญญาณตั้งแต่รอบแรกที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ออกมาบอกว่าจะดีเลย์การลงทุนออกไปก่อน จากภาพภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ SCB ประกาศซื้อเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันตลาดก็ปรับตัวแย่ลงเรื่อย ๆ และแย่ลงกว่าที่คิดไว้ ประกอบกับมีคู่แข่งเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

ในมุมมองกสิกรฯ คาดว่าเมื่อวาน (25 ส.ค.) คงเป็นการคลายความกังวลของตลาด ถ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น SCB ตั้งแต่มีแผนจะเข้าซื้อบิทคับไม่ว่าจะราคาบิตคอยน์จะขึ้นหรือลงก็มีความสัมพันธ์ (Correlation) กันบ้างพอสมควร ซึ่งแม้ว่าจริง ๆ พื้นฐาน (Fundamental) ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่าเซนติเมนต์นักลงทุนก็จับไปผูกกัน

ทั้งนี้พอมีความชัดเจนเรื่องนี้เกิดขึ้น ประเมินว่าน่าจะเป็นเซนติเมนต์เชิงบวกต่อหุ้น SCB ได้ต่อ ถ้าดูจากผลการดำเนินงานในรอบ 1-2 เดือนมานี้ ทาง SCB ถือว่าค่อนข้าง laggard ในกลุ่มแบงก์พอสมควร แต่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีผล เพราะการประมาณการกำไร SCB ที่ตลาดทำไว้ยังไม่รวมดีลบิทคับ

โดยประเมินว่า SCB น่าจะเก็บเงินไว้เอามาลงทุนทำเองมากกว่า ผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เพราะเชื่อว่าก็พอทำได้และน่าจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการเข้าไปถือหุ้นบิทคับ เพราะ 1.ระบบเป็นการลงทุนใหม่ แต่ส่วนสำคัญคือ 2.เรื่องแบรนดิ้ง ความน่าเชื่อถือ ซึ่งด้วยแบรนด์ SCB ที่เป็นทั้งธนาคาร และ SCBX ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ก็น่าจะสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุนกล้าเข้าไปเปิดบัญชีซื้อขายได้

ดังนั้นสรุปคาดว่าทางเลือกอาจจะออกมาคือ SCBS ลุยธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เอง มากกว่าที่ใช้เงินก้อนหนึ่งเพื่อไปหาพันธมิตรข้างนอก

นายกรกชกล่าวว่า โดยราคาหุ้น SCB มีโอกาสตามทันหุ้นแบงก์ใหญ่ได้ เพราะหุ้นแบงก์ใหญ่ราคาเพอร์ฟอร์มได้ดีในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ด้วยโฟลว์และภาพเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่กำลังจะดีขึ้น และปัจจัยพื้นฐานของ SCB เองก็สนับสนุนที่จะดันราคาหุ้นขึ้นตามทันหุ้นในกลุ่มแบงก์ใหญ่ เพราะในไตรมาส 2/65 การเก็บเงินของลูกหนี้ที่ผ่อนชำระเข้ามาทำได้ดีในระดับเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว


โดยครึ่งปีหลังคาดว่ากำไรน่าจะฟื้นตัวได้จากครึ่งปีแรก บนการตั้งสำรองที่ลดลง และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่เริ่มคุมได้ รวมไปถึงภาพการเปิดประเทศทำให้ดีมานด์สินเชื่อในฝั่งรายย่อยและสินเชื่อองค์กรฟื้นตัวขึ้นได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่น่าจะมีการโอนหรือมีกิจกรรมซื้อขายบ้านที่ดีขึ้น โดยไม่มีปัจจัยกดดันจากดีลบิทคับเข้ามาแล้ว