คุมเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ ไฟแนนซ์เข้มรีดเงินดาวน์เพิ่ม

เช่าซื้อรถ

ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์สะเทือน สคบ.เคาะเพดานคุมดอกเบี้ย 23% เดิมเคยรีดได้ 30% ไฟแนนซ์เข้มปล่อยกู้-เพิ่มเงินดาวน์ ตั้งการ์ดสูงปล่อยสินเชื่อยากขึ้น คาดรีเจ็กต์เรตพุ่ง บีบขอดาวน์เพิ่ม 30% สกรีนลูกค้าเข้มเช็กประวัติ “เครดิตบูโร” ผู้ประกอบการโดน 2 เด้งโขกดอกเบี้ยลูกค้าไม่ได้แถมเจอต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้น

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการประชุมเกี่ยวกับร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ที่มีการพิจารณาจะประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1.คืนรถจบหนี้ 2.การปิดบัญชี-ติ่งหนี้ และ 3.เพดานอัตราดอกเบี้ย

เพดานมอเตอร์ไซค์ไม่เกิน 23%

โดยประเด็นอัตราดอกเบี้ยนั้นที่ประชุมมีข้อสรุป คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์ใหม่เพดานไม่เกิน 10% ต่อปี รถใช้แล้ว ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี

สำหรับประเด็นการปิดบัญชีปกติ ที่ประชุมมีผลสรุป ดังนี้ 1.กรณีชำระค่างวดมาแล้ว 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อได้รับส่วนลดอัตราอยู่ที่ 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 2.ชำระค่างวดไม่เกิน 2 ใน 3 ให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 60% และ 3.ชำระค่างวดเกิน 2 ใน 3 ขึ้นไปไม่คิดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ในส่วนของคืนรถจบหนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

“หลังจากนี้จะส่งเรื่องเสนอต่อสำนักนายกรัฐมตรี เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งคาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้น่าจะประกาศออกมาใช้ได้ แต่เรายกเรื่องของคืนรถจบหนี้ออกไปก่อน ซึ่งต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีหลายเรื่องยังมีความคิดเห็นไม่ลงตัว” นายธสรณ์อัฑฒ์กล่าว

ปรับเกณฑ์เพิ่มเงินดาวน์

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า การคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ผู้ประกอบการก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย ซึ่งในกรณีเพดานออกมาอยู่ที่ 23% ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการคงต้องปรับตัวพอสมควร เพราะอัตราดอกเบี้ยถือเป็นตัวสะท้อนความเสี่ยงของลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการกล้าปล่อยสินเชื่อ หรือ high risk high return เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (มาร์จิ้น) ไม่สูงมาก

ดังนั้น หากเพดานปรับลดลงมาจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 32-33% ลงมาเหลือเพียง 23% เชื่อว่าผู้ประกอบการจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เช่น การเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ย 5-10% และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 10% รวมถึงดูกลุ่มอาชีพเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสีย

ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการสนับสนุนคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเอกสารทางการเงินสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะมีดอกเบี้ยเป็นตัวรับความเสี่ยง แต่หลังจากนี้การปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้จะลำบากมากขึ้น และทำให้หลุดไปนอกระบบได้

คาดรีเจ็กต์เรตเพิ่ม

นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ระบุด้วยว่า “อัตราดอกเบี้ยที่เรามองไว้ประมาณ 30% ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่หากดอกเบี้ยออกมา 23% ผู้ประกอบการคงต้องมีการคัดกรองลูกค้าที่เข้มข้นขึ้น เพราะอดีตเรามีดอกเบี้ยที่ทำให้รับความเสี่ยงได้ และแน่นอนทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) อาจจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนประเด็นเรื่องการปิดบัญชีกระทบต่อรายได้และกำไรแน่นอน เพราะเดิมยังมีเกณฑ์ที่สามารถเรียกเก็บได้ประมาณ 50% แต่ปัจจุบันมีบางส่วนที่เก็บไม่ได้เลยหรือเก็บได้น้อยลง”

กลุ่มฐานรากเข้าถึงรถยากขึ้น

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 23% ถือว่าต่ำกว่าที่คิดหากเทียบกับดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทนาโนไฟแนนซ์หรือพิโกไฟแนนซ์อยู่ที่ 33% ซึ่งห่างกันถึง 10% แต่หากพิจารณากลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ เป็นกลุ่มฐานราก มีรายได้หรือเอกสารทางการเงินไม่ชัดเจน และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง ดังนั้น จะทำให้คนที่ต้องการใช้รถเข้าถึงยากขึ้น

ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับกระบวนการในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น และมีการกำหนดให้วางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% ถือว่าค่อนข้างเยอะสำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก เช่น วงเงินรถจักรยายนต์เฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท ลูกค้าจะต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 1-1.5 หมื่นบาท ถือเป็นวงเงินก้อนใหญ่สำหรับลูกค้าเช่นกัน และเมื่อเข้าไม่ถึงอาจออกไปพึ่งพานอกระบบได้

“ต่อไปการปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์จะต้องมีประวัติใน NCB ดาวน์สูง มีรายได้แน่นอน ถึงจะได้รับบริการสินเชื่อ แต่คนที่ไม่มีประวัติและผ่อนชำระกระท่อนกระแท่น ไม่มีรายได้ประจำจะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น ส่งผลต่อให้ยอด rejection rate เพิ่มขึ้นแน่นอน โดยปัจจุบันสัดส่วนซื้อรถประมาณ 80% จะเป็นการผ่อนชำระ และอีก 20% จะซื้อเงินสด เราอาจเห็นสัดส่วนคนซื้อเงินผ่อนน้อยลงได้ในปีนี้”

คนซื้อรถสะเทือนทั้งระบบ

นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการกำหนดเพดานของ สคบ.จะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ เนื่องจากการกำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่สอดคล้องกับตลาด

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบ เพราะกลุ่มลูกค้า วิธีการบริหารความเสี่ยง และขนาดของธุรกิจ ไม่เท่ากับรายใหญ่ และหากดูอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยส่วนใหญ่ในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ซึ่งปรับลงมาเหลือ 23% อาจจะกระทบพอสมควร

ขณะที่รถยนต์ใช้แล้ว จะได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะรถที่มีอายุเก่ามากกว่า 10 ปี การพิจารณาดอกเบี้ยจะยากขึ้น หรือการขอกู้ในระยะยาวจะลำบาก เพราะเป็นความเสี่ยงสูง เช่น ในกรณีอายุรถและบวกสัญญาไม่เกิน 20 ปี จะเห็นว่าไฟแนนซ์จะปล่อยกู้ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก (flat rate) ประมาณ 5-7%

แต่กรณีอายุรถเก่าและขอระยะเวลากู้นาน 4-5 ปี อัตราดอกเบี้ย 15% เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องเรียกเงินดาวน์เพิ่ม หรือผู้กู้ต้องผ่อนชำระค่างวดที่หนักขึ้น และอาจจะกระทบการผ่อนชำระได้ในอนาคต และหากผู้กู้จำเป็นต้องใช้รถจริงอาจหันไปกู้เงินในแหล่งเงินที่สูงขึ้น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อมาเป็นเงินดาวน์ สำหรับรถยนต์ใหม่กระทบไม่มากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยแข่งขันไปตามกลไกตลาด

สำหรับในส่วนของทีทีบีจากการสำรวจพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ พบว่า มีผลกระทบน้อยมากมีสัดส่วนไม่ถึง 5% เป็นกลุ่มที่มีอัตราดอกเบี้ยใกล้เพดาน 15% ในกลุ่มรถยนต์ใช้แล้ว ส่วนสินเชื่อจักรยานยนต์ไม่ได้ทำ และรถยนต์ใหม่ไม่ได้รับผลกระทบ

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ แต่จะต้องปรับตัว และอาจเห็นผู้กู้ออกนอกระบบมากขึ้น เพราะความเสี่ยงไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มรถจักรยานยนต์มีต้นทุนใกล้เคียงกับรถยนต์ แต่ขนาดวงเงินปล่อยสินเชื่อแตกต่างกัน ทำให้ต้นทุนจึงแพงกว่า เช่น ราคารถยนต์ 3 แสนบาท มีต้นทุนบริหารจัดการ 1% เทียบรถจักรยานยนต์วงเงิน 3 หมื่นบาท ต้นทุนเด้งเป็น 30%

ดังนั้น โอกาสที่ลูกค้าบางกลุ่มจะหลุดและไม่ได้รับสินเชื่อมีมากขึ้น โดยอาจเห็นอัตราปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้นไม่มาก รถใช้แล้วเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เยอะสุดจะเป็นรถจักรยานยนต์ และผู้ประกอบการอาจเรียกเงินดาวน์เพิ่มเติม

“ธุรกิจยังเดินได้ แต่ก็ต้องปรับตัว ในส่วนของ KKP เราปรับไม่เยอะ เพราะในพอร์ตรถใช้แล้วที่ดอกเบี้ยเกิน 15% มีสัดส่วนราว 10% ส่วนรถใหม่ไม่เกิน 5% ซึ่งเรามองว่าอยากให้ทำเช่าซื้อเหมือนสินเชื่อบ้าน ที่สนับสนุนบ้านหลังแรก และหลัง 2-3 อาจปรับเรื่องของ LTV ลงได้ เพราะถ้ากำหนดเพดานกลัวลูกค้าที่ต้องจำเป็นต้องใช้รถจริงอาจวิ่งไปหานอกระบบ”

ไฟแนนซ์โดนโขกดอกเบี้ย 2 เด้ง

แหล่งข่าวผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรายเล็กกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ที่ปล่อยเพราะยังคงมีส่วนต่างดอกเบี้ย (มาร์จิ้น) อยู่ กรณีลูกค้าไม่มีประวัติ NCB จะปล่อยอัตราดอกเบี้ยสูง 36% เพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยง และเมื่อหักต้นทุนในส่วนของค่าสำรอง ประมาณ 10-11% และต้นทุนดอกเบี้ยกู้ยืมเฉลี่ย 5-6% และต้นทุนการดำเนินงานขึ้นกับขนาดธุรกิจ และต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเต็นท์รถ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเหลือมาร์จิ้นราว 3-4%

แต่ภายหลังมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย 23% เชื่อว่าผู้ประกอบการจะลดความเสี่ยง และเข้มงวดในการปล่อยกู้ โดยจะต้องมีการคัดกรองลูกค้า มีการตรวจประวัติ NCB เลือกกลุ่มอาชีพ และเพิ่มเงินดาวน์มากขึ้น
“รถยนต์คงไม่กระทบมาก แต่จักรยานยนต์และยิ่งรายเล็กจะเหนื่อยหน่อย เพราะดอกเบี้ยด้านบนก็กดลงมาเหลือ 23% และดอกเบี้ยด้านล่างจากต้นทุนเงินกู้ก็เร่งตัวขึ้น ซึ่งโดน 2 เด้ง และเราไม่รู้ว่าดอกเบี้ยอาร์พีจะขึ้นอีกกี่ครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว