เปิดเสถียรภาพระบบการเงิน Q3/65 ธปท.ห่วงเงินเฟ้อปัจจัยเสี่ยงจ่ายหนี้ครัวเรือน

แก้หนี้

ธปท.เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยไตรมาส 3/65 ชี้ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ จับตาความเสี่ยงเงินเฟ้อ กระทบความสามารถชำระหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ-คุณภาพสินเชื่อกลุ่มเปราะบาง พร้อมติดตามภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุน ด้านตลาดการเงินผันผวนเฝ้าระวังเกิดการ reprice ระลอกใหม่

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย (Financial Stability Snapshot) ไตรมาสที่ 3/2565 โดยจะครอบคลุมประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 8 ด้าน คือ ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารพาณิชย์ & non-bank ภาคสหกรณ์ ภาคตลาดการเงิน ภาคต่างประเทศ และภาค digital asset เพื่อให้สาธารณชนรับทราบถึงสถานะและความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย

โดยภาพรวมระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และอาจกระทบคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

ด้านภาครรัวเรือนยังเปราะบางต่อเนื่องจากภาระหนี้และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ด้านภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะการเงิน สภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบางภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ขนส่งสินค้า และวัสดุก่อสร้าง

SMEs มีสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น

ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ อุปสงค์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่โครงการอาคารชุดเปิดใหม่ชะลอลงเล็กน้อย หลังเร่งขึ้นในช่วงต้นปีอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้าง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

ด้านภาคธนาคารพาณิชย์และ Non-bank ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง เงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากการเติบโตของสินเชื่อ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายกันสำรองปรับลดลง

NPL ratio ปรับลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังเปราะบาง เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ภาคสหกรณ์ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนโดยการกู้ยืมมาลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและตราสารทุนเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ระดับเงินกู้ยืมโดยรวมยังต่ำกว่าในอดีต ทั้งนี้ หาก สอ. กู้ยืมเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นเมื่อตลาดการเงินมีความผันผวนสูง

ภาคตลาดการเงิน แม้ปัจจุบันตลาดการเงินยังมีความผันผวน แต่โดยรวมยังต่ำกว่าในไตรมาสที่ 2 และยังไม่เห็นสัญญาณเงินไหลออกขนาดใหญ่จากกองทุนรวม ทั้งนี้ ระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการ reprice ระลอกใหม่ หากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ภาคต่างประเทศ ยังคงเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามแนวโน้มการปรับดีขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัด

ภาค digital asset ความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมจำกัด แต่ต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องเพราะตลาดมีความผันผวนสูงและได้รับความสนใจในวงกว้าง