เจ้าหนี้ สินมั่นคง 3.5 แสนรายลุ้น คาดแผนฟื้นฟูเสร็จกลางปีหน้า

สินมั่นคง

คปภ.วาง 8 เกณฑ์ประกบ “สินมั่นคงประกันภัย” ช่วงจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดแผนฟื้นฟูเสร็จกลางปีหน้า เจ้าหนี้กว่า 3.5 แสนรายลุ้นระทึก “กลุ่มทุนใหม่” ใส่เงิน-หาข้อสรุปปรับโครงสร้างหนี้

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งบริษัทเป็นผู้ทำแผน จากนั้นตนได้ลงนามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ให้สินมั่นคงประกันภัยแก้ไขฐานะและการดำเนินงานตามที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 เป็นการกำหนดกติกาให้สินมั่นคงประกันภัยดำเนินการ 8 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.เพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี

2.เปิดเผยข้อมูลทางการเงิน สินทรัพย์สภาพคล่อง และภาระหนี้ตามสัญญาประกันภัยในหน้าเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนทราบถึงสถานะของบริษัทตลอดช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และให้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้ คปภ.เพื่อจะได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ คปภ.

3.กำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะ (1) ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน (2) ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐและบริษัทจำกัด ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับลงทุน (3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนตามข้างต้น (4) ตราสารทุนที่ออกโดยบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด หรือกรณีที่บริษัทจะลงทุนในสินทรัพย์อื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

4.บันทึกรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้เพียงพอและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

5.ตรวจสอบรายการรับแจ้งการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และดำเนินการบันทึกรายการในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีโดยเร็ว และให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

6.ให้บริษัทพิจารณาและชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และขออนุญาตศาลล้มละลายกลาง “ให้มีคำสั่งอนุญาต ให้บริษัทชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำพิพากษาของศาล สำหรับสัญญาประกันภัยที่บริษัทดำเนินการค้าตามปกติ

7.รายงานฐานะการเงิน อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่องของบริษัท ตามที่นายทะเบียนกำหนดนับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา

และ 8.รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อ 1-7 ทุก 7 วัน โดยการดำเนินงานของบริษัทยังคงต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย กฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือตามที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หากบริษัทสินมั่นคงประกันภัยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ คปภ.ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบคำสั่ง

เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า สำหรับกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะประกาศให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 20 ธ.ค. 2565 ซึ่งตามข้อกฎหมายผู้ทำแผนจะต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 3 เดือน นับจากวันโฆษณาคำสั่งผู้ทำแผนคือวันที่ 20 มี.ค. 2566 และสามารถขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ไม่เกินครั้งละ 1 เดือน ดังนั้นจะสิ้นสุดจริงในวันที่ 20 พ.ค. 2566

จากนั้นจะส่งร่างแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 เดือน คาดว่าน่าจะไม่เกินเดือน มิ.ย. 2566 และต้องมีการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาโหวตลงมติออกเสียงในแผนฟื้นฟูกิจการประมาณ 2 เดือน

ซึ่งจะมี 2 กรณี คือ 1.มติที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องส่งเรื่องไปที่ศาลล้มละลายกลาง หลังจากนั้นจะยกเลิกคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย และสำนักงาน คปภ.จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 2.หากมติที่ประชุมเจ้าหนี้รับแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องส่งเรื่องไปที่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อไต่สวนให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง และหากศาลเห็นชอบก็จะให้เดินหน้าตามแผน ซึ่งกรอบระยะเวลาของแผนฟื้นฟูตามกฎหมายไม่เกิน 5 ปี ขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี

ในระหว่างนี้สิ่งที่ คปภ.ทำ คือ จะประสานงานกับกรมบังคับคดีเกี่ยวกับแนวทางการดูแลประชาชนผู้เอาประกัน ซึ่งการแก้ไขฐานะการเงินของสินมั่นคงประกันภัย จะมีความชัดเจนเมื่อบริษัทส่งแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งระหว่างนี้ก็จะอยู่ในการกำกับดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ 1.ศาลล้มละลายกลาง 2.กรมบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และ 3.สำนักงาน คปภ. เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าผู้เอาประกันภัยจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่

นางสาวอายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบ สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ตอนนี้เท่าที่ทราบ คือ มีผู้สนใจจะเพิ่มทุนในบริษัท สินมั่นคงประกันภัยจริง แต่พอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะมีปัจจัยหลายอย่าง ๆ ที่ต้องแก้ไข ซึ่งต้องยอมรับว่าหนึ่งในปัจจัยนั้นก็คือ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยขอความยินยอมจากเจ้าหนี้ในการรับมติแผน ซึ่งเจ้าหนี้ประกันภัยโควิด-19 มีจำนวนที่มีนัยในการลงมติ เพราะมีมากถึง 3.5 แสนราย มูลหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันนี้ คปภ.ยังไม่เห็นแผนสุดท้าย ตอนนี้อยู่ในกระบวนการยื่นขอรับชำระหนี้เพื่อใช้ในกระบวนการฟื้นฟู พิจารณาแผน และลงมติแผน ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการแปลงหนี้เป็นทุน รอรับเป็นเงินปันผลแต่อาจจะได้เงินช้า แต่หากมองว่าธุรกิจสินมั่นคงประกันภัยมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ก็เป็นการตัดสินใจของเจ้าหนี้แต่ละราย

“ต้องบาลานซ์หลาย ๆ ส่วน เพราะตอนนี้มีปัจจัยข้อเท็จจริงเยอะ เรื่องกองทุนประกันวินาศภัยที่ยังมียอดหนี้ที่ต้องจ่ายกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งพยายามแก้ไขโดยการหาเม็ดเงินกันอยู่ จึงต้องดูแผนสินมั่นคงประกันภัยว่าจะจูงใจเจ้าหนี้ในการตัดสินใจได้แค่ไหนด้วย ซึ่งเราสามารถคอมเมนต์แผนฟื้นฟูได้ กำลังรอดูแผนสุดท้ายอยู่” นางสาวอายุศรีกล่าว