ดอลลาร์อ่อนค่า ขานรับถ้อยแถลงสมาชิกเฟดผ่อนคลายลง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขานรับถ้อยแถลงสมาชิกเฟดผ่อนคลายลง นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ขณะที่ปัจจัยในประเทศไมยอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในจีนที่อาจชะลอการเปิดระเทศออกไป

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/11) ที่ระดับ 36.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/11) ที่ระดับ 36.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อคืนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าภายหลังถ้อยแถลงของนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ได้มีการเน้นย้ำว่าการชะลอเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายยังคงเป็นภารกิจสำคัญของเฟด แม้ว่าล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัว แต่ยังคงห่างไกลจากระดับเป้าหมายที่ระดับ 2-3%

ทั้งนี้นางลอเรตตามีความเห็นว่าในการประชุมเฟดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจไม่รุนแรงเท่าระดับที่ผ่านมาแล้ว โดยล่าสุดนักลงทุนมีการปรับน้ำหนักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนธันวาคม (14-15 ธ.ค.) โดยให้น้ำหนัก 75% สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 และให้น้ำหนัก 25% สำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงถูกกดดันจากการรายงานดัชนีภาคการผลิตของรัฐริชมอนด์ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ -9 และรายงานดัชนีภาคการผลิตของรัฐริชมอนด์ เดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ -2 โดยตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณว่าภาคธุรกิจในริชมอนด์ทั้งด้านการขนส่งทางเรือ คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ การจ้างงาน และภาคบริการยังคงไม่สู้ดีนัก ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อบ่งชี้ทิศทางการดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ การคาดการณ์เกี่ยวกับนักท่อเที่ยวในปีหน้าที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนยังคงตึงเครียด และอาจส่งผลให้การเปิดประเทศจีนถูกชะลอไป โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันของจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) โดยทางการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28,183 ราย เพิ่มขึ้นจาก 27,307 รายในวันจันทร์ (21 พ.ย.) ส่งผลให้กรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้สั่งห้ามไม่ให้ผู้คนเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

โดยล่าสุดมีรายงานจากสำนักข่าวซินหัวว่าสถานการณ์โควิดในเมืองฉงชิ่งยังคงรุนแรง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนางซุน ชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเร็ว ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูตัวเลขนำเข้าและส่งออกของไทยจากกรมศุลกากรที่จะประกาศในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.07-36.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.25/26 บาท/ดอลลาร์สหัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (23/11) ที่ระดับ 1.030/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/11) ที่ระดับ 1.0274/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังวันนี้มีรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดในภาคการผลิตยุโรปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 47.3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 46.0 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.4 รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการยุโรปเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 48.6 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 48.0 และทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6

นอกจากนี้ ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของเยอรมนีต่างออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ โดยตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปทั้งในภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายนออกมาดีกว่าการคาดการณ์ แม้ว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0300-1.0348 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0313/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/11) ที่ระดับ 141.25/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (22/11) ที่ระดับ 141.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบหลังในวันนี้ (23/11) เป็นวันหยุดทำการของตลาดเงินญี่ปุ่นเนื่องในวันขอบคุณแรงงาน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.07-141.51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.43/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย.จากเฟดริชมอนด์ (22/11), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. (23/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตชั้นต้นเดือน พ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (23/11), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.00/-8.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.30/-6.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ