ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนหลังจีนล็อกดาวน์ กังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจีนล็อกดาวน์ กังวลเศรษฐกิจชะลอตัว หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่ม ขณะที่ปัจจัยในประเทศเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/65 ยังเติบโตได้ดีที่ 4.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/11) ที่ระดับ 36.24/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 36.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนพากันซื้อในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน หลังจากกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน สั่งล็อกดาวน์เขตเฉาหยาง เขตไห่เตี้ยน เขตตงฉิน และเขตซีเฉิง หลังมีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งเพิ่มอีก 2 ราย และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 951 ราย

นอกจากนี้ จีนยังได้สั่งล็อกดาวน์เมืองสือจยาจวง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย และล็อกดาวน์เขตไป๋อวิ๋นในมณฑลกว่างโจว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.ไปจนถึงวันที่ 25 พ.ย. ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และขัดขวางความพยายามในการเปิดประเทศของจีน

นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่นางแมรี ดาลี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโกกล่าวว่า เธอยังคงคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับประมาณ 5% หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐไม่ชะลอตัวลง แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับดังกล่าวจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เธอคาดหวังก็ตาม

ทั้งนี้นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พ.ย. ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพุธนี้ (23 พ.ย.) เพื่อบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังรายงานเศรษฐกิจไตรมาส 3/65 เติบโตได้ดีที่ 4.5% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1-2 ที่ 2.3% และ 2.5% ตามลำดับ

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดปี 2566 เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพะการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยราว 10.3 ล้านคน ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-Up demand) การทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็น 202.4 ล้านคน/ครั้ง ในปี 65

ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 4 ผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง High scason ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.07-36.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (22/11) ที่ระดับ 1.0241/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 1.0228/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) นางคริสติน ลาการ์ด ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยชี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ ECB เหนือการลดบัญชีงบดุล ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0246-1.0281 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0274/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/7) ที่ระดับ 142.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 141.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.26-142.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 141.34/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือน พ.ย. จากเฟดริชมอนด์ (22/11), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ต.ค. (23/11), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ภาคการผลิตขั้นต้นดือน พ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/11), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (23/11), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.80/-8.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.00/-7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ