ดอลลาร์อ่อนค่า หลังกรรมการเฟดเห็นพ้องชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบเศรษฐกิจ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังกรรมการเฟดเห็นพ้องชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นนโยบายการเงินกระทบเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนกังวลจีนใช้มาตรการเข้มคุมโควิด หวั่นกระทบเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยในประเทศการจ้างงาน-ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวชัดเจน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 21-25 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 35.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 35.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทช่วงต้นสัปดาห์เคลื่อนไหวอ่อนค่าตามภูมิภาคจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนพากันซื้อเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน โดยกรุงปักกิ่งของจีนสั่งล็อกดาวน์เขตเฉา หยาง ไห่เตี้ยน ตงเฉิง และซีเฉิง หลังมีรายงานพบผู้เสียชีวิต จากโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งเพิ่มอีก 2 รายในวันอาทิตย์ (20/11) และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 951

โดยเทศบาลกรุงปักกิ่งได้สั่งระงับการเรียนการสอนในโรงเรียน และเปลี่ยนไปเรียนทางออนไลน์ รวมถึงสั่งให้ประชาชนในเขตเหล่านี้อยู่แต่ในบ้าน นอกจากนี้ จีนได้สั่งล็อกดาวน์เมืองสือจยาจวง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอเป่ย และล็อกดาวน์เขตไป๋อวิ๋นในมณฑลกว่างโจวให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านเช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่ 21-25 พฤศจิกายน

กังวลจีนใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมโควิด

ข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าทางจีนอาจจะใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และขัดขวางความพยายามในการเปิดประเทศของจีน

นอกจากนั้น ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโกคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับประมาณ 5% หากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐยังไม่ชะลอตัวลง แม้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับดังกล่าวจะไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เธอคาดหวังก็ตาม

ทั้งนี้ ช่วงต้นสัปดาห์นักลงทุนรอการเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารสหรัฐ (FOMC) ประจำวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ (23/11) เพื่อหาทิศทางสำหรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าในกลางสัปดาห์ ภายหลังรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยการประชุมประจำวันที่ 1-2 พฤศจิกายนในวันพุธ (23/11) ว่า

แม้กรรมการเฟดตระหนักว่าตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะชะลอการปรับขึ้นอตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของนโยบายการเงินของเฟดที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้เฟดมีโอกาสประเมินถึงผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา และจะเปิดทางให้เฟดสามารถประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ โดยการประชุมครั้งถัดไปของเฟดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2565

การจ้างงาน-ท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงต้นสัปดาห์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ้างงานเริ่มทยอยฟื้นตัวหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ เห็นได้จากตัวเลขของแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 ที่ตัวเลขเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ดังนั้นในปี 2566 ตลาดแรงงานของไทยจึงมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้นายจ้างที่มีศักยภาพจำเป็นต้องรักษากำลังแรงงานเดิมเอาไว้ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นอัตราเงินเดือน คาดว่าภาพรวมจะมีการพิจารณาเพิ่มเงินเดือนขึ้นเฉลี่ย 5% ขณะที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม-20 พฤศจิกายน มีจำนวน 8,822,950 คน โดยขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 60,000 คน จึงมีโอกาสที่จะถึง 10 ล้านคนก่อนวันที่ 10 ธันวาคมนี้

โดย 5 ลำดับแรกพบว่า 1 คือ มาเลเซีย 1,454,063 คน, อินเดีย 778,382 คน, ลาว 638,260 คน, กัมพูชา 464,699 คน, สิงคโปร์ 438,561 คน, ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าตั้งแต่กลางสัปดาห์ จากปัจจัยที่กรรมการเฟด เห็นพ้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ชะลอลง เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย จึงทำให้มีแรงเทขายดอลลาร์ออกมา โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.66-36.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/11) ที่ระดับ 35.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ECB อาจชะลอขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 1.3013/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 1.0367/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้น ยังเป็นปัจจัยจากความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคากลางยุโรป (ECB) ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (24/11) ทางสภายุโรปออกแถลงการณ์ ระบุว่า นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภายุโรปออกแถลงการณ์ ระบุว่า นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภายุโรป จะเดินทางเยือนจีนในวันที่ 1 ธันวาคม โดยมีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เพื่อหารือในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับสงครามในยูเครน ความตึงเคียดในช่องแคบไต้หวัน และความกังวลของสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่สมดุลระหว่าง EU และจีน

นอกจากนี้ นายมิเชลจะทำการหารือกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในวันดังกล่าวเช่นกัน สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.3 ในเดือนพฤศจิกายน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 85.0 จากระดับ 84.5 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้เป็นช่วงสัปดาห์ ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.0330-1.0448 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/11) ที่ระดับ 1.0414/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในขณะที่ปัจจัยในภูมิภาค สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยยอดค้าปลีกของอังกฤษณโดยปับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม หลังร้านค้าปลีกจำนวนมากปิดกิจการในเดือนกันยายน เนื่องในวันหยุดนักขัตฤกษ์เฉพาะกิจที่เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และยอดค้าปลีกยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 เนื่องจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการใช้จ่ายผู้บริโภค

โดยในรายงานระบุว่า ยอดค้าปลีกของอังกฤษเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน หลังลดลง 1.5% ในเดือนกันยายน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่ายอดค้าปลีกเดือนตุลาคปรับขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ในส่วนของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ได้มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 4.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ในการประชุมวันพุธ (23/11) พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงมากต่อไป ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ได้เริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในเดือนตุลาคม 2564

โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% ในเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาตินิวซีแลนด์รายงานก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 7.2% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี และเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบรายไตรมาส และเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบรายปี

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (21/11) ที่ระดับ 140.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/11) ที่ระดับ 139.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนรอดูรายงานประชุม FOMC รอบเดือนพฤศจิกายน

โดยค่าเงินเยนรวมถึงค่าเงินอื่น ๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นภายหลังจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่ระบุว่า คณะกรรมการเฟดเห็นพ้องว่าควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.04-142.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/11) ที่ระดับ 138.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ