ดอลลาร์อ่อนค่า คาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นเศรษฐกิจถดถอย

dollar
REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า คาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย สำหรับการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ หวั่นเศรษฐกิจถดถอย

สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ 36.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/11) ที่ 36.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้

วานนี้ (23/11) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ระบุว่า แม้กรรมการเฟดตระหนักว่าตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยหนึ่งในกรรมการเฟดได้ให้ความเห็นว่า “การปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงนั้น จะช่วยให้กรรมการเฟดมีโอกาสประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา และจะเปิดทางให้กรรมการเฟดสามารถประเมินความคืบหน้าของเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ” โดยภายหลังการประกาศรายงานการประชุมดังกล่าว มีผลทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลเงิน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ (23/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ยื่้นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 17,000 ราย สู่ระดับ 240,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย

ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.3 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 48.2 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 7.5% สู่ระดับ 612,000 ยูนิต ในเดือนตุลาคม สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 570,000 ยูนิต ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.8 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 59.9 ในเดือนตุลาคม แต่สูงกว่าตัวเลขดัชนีเบื้องต้นที่ระดับ 54.7 ทั้งนี้ตลาดเงินนิวยอร์กจะปิดทำการในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า สำหรับค่าเงินบาทในระหว่างวันเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.82-36.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 1.0425/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวาน (23/11) ที่ระดับ 1.0397/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวาน (23/11) ที่ระดับ 1.0397/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค สหภาพยุโรป (EU) กำลังหวาดวิตกต่อการย้ายฐานธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐอเมริกา หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐผ่านกฎหมายมอบเงินอุดหนุน เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนขยายธุรกิจในประเทศมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูง กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ยุโรปค่อย ๆ สูญเสียความน่าลงทุนในสายตาของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0394-1.0448 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1,0413/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/11) ที่ระดับ 139.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (23/11) ที่ระดับ 141.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า Jibun Bank Flash เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของญี่ปุ่นประจำเดือนพฤศจิกายน ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจาก 50.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตมีภาวะหดตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.56-139.64 เยน/ดอลลาสหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี IFO Business Climate ของเยอรมนี (24/11), ดัชนีมาตรวัดเงินเฟ้อ Tokyo CPI ของญี่ปุ่น (25/11), ดัชนี GDP รายไตรมาสของเยอรมนี (25/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.75/-8.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.30/-10.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ